เงินเฟ้อเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 2.25% ชะลอลงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) บทวิเคราะห์ เงินเฟ้อเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 2.25% ชะลอลงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน หลังกระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2013 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.25% (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า) ชะลอลงจาก 2.27%ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.88% ชะลอลงจาก 0.94%ในเดือนที่ผ่านมา
ราคาผักและผลไม้สดชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณผลผลิตทางการเกษตรอันเนื่องมาจากสภาพการเพาะปลูกที่เอื้ออำนวย โดยราคาผักและผลไม้สดปรับตัวลดลงจากเดือนพฤษภาคมราว 2.99%ต่อเดือนและ 2.95%ต่อเดือนตามลำดับ และทำให้ราคาอาหารสดโดยรวมเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมาเพียง 6.23% ชะลอจาก 6.49% ในเดือนก่อนหน้า
ดังนั้นเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายนจึงปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 2.25% ชะลอลงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันนับตั้งแต่ต้นปี และส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ยครึ่งปีแรกอยู่ที่ 2.70% ยังคงต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ 2.8-3.4%
เงินเฟ้อพื้นฐานยังคงต่ำกว่า 1% เป็นเดือนที่สอง ราคาอาหารปรุงสำเร็จซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานโดยรวมยังคงทรงตัวอยู่ ในขณะที่ภาครัฐยังคงมาตรการดูแลค่าครองชีพอยู่จึงทำให้ดัชนีราคาสินค้าที่หักสินค้าในหมวดพลังงานและอาหารสดเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมาไม่มากนัก โดยเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนมิถุนายนปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.88% ชะลอลงจาก 0.94% ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่า 1% อีกครั้งเป็นเดือนที่สองนับตั้งแต่ช่วงกลางไตรมาสสองของปี 2010
EIC คาดเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยปีนี้น่าจะลดลงมาอยู่ที่ราว 2.6% และ 1.3% ตามลำดับ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยครึ่งปีแรกต่ำกว่าระดับที่เคยประเมินไว้เดิม และแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง
ทั้งนี้ EIC ประเมินราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังน่าจะยังทรงตัวต่อไปในช่วงที่เหลือของปีจึงทำให้ราคาพลังงานในประเทศไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก
แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่จะกดดันเงินเฟ้ออยู่บ้างจากการทยอยปรับขึ้นราคาแอลพีจี และแผนการปรับขึ้นค่าทางด่วนในวันที่ 1 กันยายนที่จะนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีในช่วงเดือนกรกฏาคม