ทบ.เตรียมปลดระวางเรือเหาะ มูลค่า 350 ล้านบาท
กองทัพบกเตรียมปลดระวางเรือเหาะ สกาย ดรากอน (sky dragon) หรือ มังกรเหินฟ้า รุ่น 40DS ออกจากการใช้งานของกองทัพ หลังเกิดอุบัติเหตุเครื่องตกในเดือนธันวาคมเมื่อปี 2555 ทำความเสียหายอย่างมากต่อเครื่องยนต์ และผ้าใบของเรือเหาะ คาดว่าต้องใช้งบประมาณเกือบ 20 ล้านบาทเพื่อซ่อมแซม โดยไม่มีหลักประกันว่าหลังการซ่อมจะสามารถนำเรือเหาะไปใช้งานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้หรือไม่
เรือเหาะ sky dragon ผลิตโดยบริษัท เวิล์ดไวด์ แอโร่ คอปเปอร์เรชั่น (worldwide aero corporation) จากสหรัฐฯ โดยถูกสั่งซื้อกลางปี 2552 ในยุคที่ี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้บัญชาการทหารบก ในราคา 350 ล้านบาท พร้อมอุปกรณ์ถ่ายภาพระยะไกลคุณภาพสูง 2 ตัว เพื่อใช้ในภาระกิจลาดตระเวนหาข่าวในจังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่ตลอดช่วงเวลา 3 ปีหลังนำเรือเหาะเก็บรักษาในโรงจอด ภายในกองพลทหารราบที่15 กองทัพภาคที่สี่ ช่วงปลายปี 2552 ไม่เคยมีการนำเรือเหาะลำนี้ขึ้นปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ เนื่องจากมีปัญหาขัดข้องตลอดช่วงเวลาดังกล่าว
โดยเฉพาะในเรื่องเครื่องยนต์ที่ไม่สามารถบินสูงเกินกว่าระยะ 1,000 เมตร ซึ่งต่ำกว่าระยะ 2 ถึง 1,000 เมตร ที่กำหนดไว้ ซึ่ง จะเป็นอันตรายจากการถูกยิงจากพื้นดิน และตลอดช่วงเวลาเก็บรักษามีค่าใช้จ่าย ที่สูงมากการขึ้นทดลองเครื่องแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายกว่า 200,000 บาท
พล.อ.อนุพงษ์ ได้ อนุมัติการจัดซื้อเรือเหาะหลังฝ่ายอำนวยการของกองทัพเห็นว่าควรจัดหาเรือ เหาะมาใช้ในภาระกิจลาดตระเวนหาข่าวหลังไปดูการทำงานของเรือเหาะในประเทศ อิรัก ในเดือนกันยายน 2555 พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้อนุมัติงบประมาณในการซ่อม 50 ล้านบาท และหลังซ่อมเสร็จอยู่ระหว่างทดลองบินได้เกิดอุบัติเหตุเครื่องตกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ปี 2555
นายทหารในกองทัพนายหนึ่ง เปิดเผยว่า บริษัทนายหน้าที่กองทัพบกได้ติดต่อในการจัดซื้อได้ปิดกิจการหลังขายเรือเหาะซึ่งเป็นรุ่นต้นแบบ หรือ โพรโตเทป (prototype) ให้กับกองทัพบกในยุคของ พล.อ.อนุพงษ์ ซึ่งถูกสังคมส่วนหนึ่งตั้งข้อสงสัยถึงความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อยุทธภัณฑ์หลากหลายชนิดของกองทัพ
รวมถึงเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดจีที 200 และเรือนนอนทหารแบบน็อคดาวน์ที่มีทางเข้าออกด้านเดียวไม่เหมาะกับการใชงานในสนาม และถูก พล.อ.ประยุทธ์ สั่งห้ามนำไปใช้งานในสนามเพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียต่อกำลังพลกองทัพ