ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ประชาธิปัตย์เชื่อร่างกม.นิรโทษฯเป็นชนวนขัดแย้ง

การเมือง
21 ก.ค. 56
15:25
34
Logo Thai PBS
ประชาธิปัตย์เชื่อร่างกม.นิรโทษฯเป็นชนวนขัดแย้ง

การลำดับกฎหมายเพื่อพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ที่จะเปิดสมัยประชุมเดือนสิงหาคมนี้ยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากความเห็นของรัฐบาล ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ยังคงต่างกันในแง่ของเหตุผลการให้ความสำคัญต่อ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท และร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้ถอนวาระการพิจารณาร่างนิรโทษกรรม เพราะเชื่อว่าจะเป็นชนวนเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ โดยมองว่าหากกระบวนการเสียงข้างน้อยไม่สามารถยับยั้งได้ จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้เหตุขัดกันระหว่างผลประโยชน์ของประชาชน และนักการเมือง

ความไม่ชัดเจนของรัฐบาลต่อการจัดลำดับความสำคัญของร่างกฎหมาย ที่จะเข้าสู่การพิจารณาในวาระแรกของสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญทั่วไป ทำให้ฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ไม่ไว้วางใจต่อท่าทีดังกล่าว เพราะระเบียบวาระที่ค้างอยู่ ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางเมือง ที่เสนอโดยนายวรชัย เหมะ ถูกบรรจุเป็นวาระแรก และยังมีร่างกฎหมายที่มีหลักการและเนื้อหาลักษณะเดียวกันค้างอยู่ ทั้งร่างของนายนิยม วรปัญญา และร่างพ.ร.บ.ปรองดอง อีก 5 ฉบับ ที่เสนอโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นายนิยม วรปัญญา นายสามารถ แก้วมีชัย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งล้วนเป็นการยกเว้นความผิดแบบเหมารวม และมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงเกรงจะไปสู่วิกฤตการเมืองรอบใหม่ จึงอยากให้รัฐบาลถอดชนวนความขัดแย้ง ด้วยการถอนร่างกฎหมายทั้ง 7 ฉบับ ออกจากระเบียบวาระการประชุม

ขณะเดียวกันก็พร้อมสนับสนุนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับประชาชน ที่มีหลักการสอดคล้องกับจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ควรนิรโทษกรรมแบบแยกความผิดทางอาญา โดยต้องมีการนำมาพูดคุยแก้ไขร่างให้ชัดเจน ว่าจะไม่การยกเว้นความผิดในมาตรา 112 กรณีหมิ่นสถาบัน ก่อนที่จะนำเสนอร่างเข้าสู่การพิจารณาของสภา

แต่ด้วยความเป็นเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่อาจคาดหวังต่อกระบวนการในสภา ที่จะหยุดยั้งร่างกฎหมายดังกล่าวได้ ฝ่ายค้านจึงคาดหวังต่อเสียงคัดค้านนอกสภาของประชาชน แต่หากไม่เป็นผลก็จะใช้ช่องกฎหมายยื่นตีความ ตามมาตรา112 ของรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการขัดกันของผลประโยชน์ เพื่อยับยั้งร่างกฎหมายแทน

ซึ่งก่อนจะมีการเปิดสภาจึงต้องติดตามท่าทีการเคลื่อนไหวของวิปรัฐบาล ที่นัดหารือจัดลำดับความสำคัญของกฎหมาย ในวันที่ 24 กรกฎาคมและติดตามมติพรรคเพื่อไทย ที่จะนัดประชุม ส.ส.ในวันที่ 30 กรกฎาคม รวมถึงการนัดชุมนุมของมวลชนในนามกองทัพประชาชน โค่นระบอบทักษิณ ในวันที่ 4 สิงหาคม ที่จะเป็นเครื่องชี้วัดถึงอุณหภูมิการเมืองทั้งในและนอกสภา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง