บทบาท กสทช. กับการแบนซีรีย์
พฤติกรรมเสี่ยงของตัวละครวัยรุ่นอย่าง การใช้ความรุนแรง ยาเสพติด รวมถึงเซ็กส์ในวัยเรียน ทำให้ซีรีย์เรื่อง ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ซึ่งออกอากาศหลัง 4 ทุ่มผ่านช่องทีวีดาวเทียมและเว็บไซต์ยูทูบ ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ชมทั้งวัยรุ่น คนรุ่นใหม่และคนทำงาน จนเกิดเป็นกระแสถูกพูดถึงในสังคมเป็นอย่างมาก แม้มีเสียงวิจารณ์ถึงเนื้อหา หากการเปิดมุมมองใหม่โดยนำด้านมืดในชีวิตจริงของวัยรุ่นมานำเสนออย่างเข้าใจ ทำให้ได้รับเสียงชื่นชมจากคนดูหลายกลุ่ม อย่างไรก็ตามมีการออกจดหมายเรียกผู้ผลิตซีรีย์เรื่องดังกล่าวเข้าพบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อให้ผู้ผลิตชี้แจงเรื่องเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม
กระแสข่าวการเรียกผู้ผลิตซีรีย์เรื่องดังกล่าวเข้าพบ ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ชมและคนดูผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ไม่น้อย เพราะแม้จะมีเนื้อหาที่ล่อแหลม แต่เป็นซีรีย์ที่ออกอากาศหลัง 4 ทุ่ม ตามข้อกำหนดของการจัดระดับความเหมาะสมในโทรทัศน์ และกรณีนี้เป็นการออกจดหมายเชิญผู้ผลิตเข้าชี้แจงในส่วนของเนื้อหา โดยไม่มีผู้ร้องเรียนซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ทำให้องค์กรที่ติดตามการงานของ กสทช. อย่าง โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) มองว่านี่อาจเป็นการทำงานข้ามขั้นตอน
ขณะที่ผู้ผลิตและผู้บริหารช่องจีเอ็มเอ็มวัน ซึ่งออกอากาศซีรีย์เรื่องนี้ยังปฏิเสธจะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยจะรอให้ทีมงานและที่ปรึกษากฎหมายเข้าหารือกับ คณะกรรมการ กสทช. ในวันที่ 5 ส.ค.2556 ก่อนที่จะมีการเปิดเผยถึงรายละเอียดต่อไป ซึ่งซีรีย์ เรื่อง ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ปัจจุบันออกอากาศไปแล้ว 9 จากทั้งหมด15 ตอน และมีกำหนดออกอากาศตอนสุดท้ายในวันที่ 17 ส.ค.2556