นักวิชาการ-ผู้นำศาสนาเรียกร้องรัฐแก้ปัญหาชาวโรฮิงยา
เด็กและผู้หญิงชาวโรฮิงยาซึ่งอยู่ในการดูแลของบ้านพักเด็กและครอบครัวสงขลารับประทานอาหารกลางวัน ก่อนแยกย้ายพักผ่อนและทำกิจกรรมฝึกอาชีพซึ่งเจ้าหน้าที่จัดหามาให้ เพื่อเพิ่มทักษะด้านฝีมือแรงงาน แม้ทางการไทยจะให้การดูแลเป็นอย่างดี แต่ชาวโรฮิงยาเหล่านี้ยังหาช่องทางเพื่อหลบหนีไปยังประเทศที่ 3
การสนธิกำลังระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่อ.สะเดา เพื่อติดตามชาวโรฮิงยาจำนวน 87 ซึ่งหลบหนีจากอาคารควบคุมตัวของตำรวจตรวจค้นเข้าเมืองสงขลาเมื่อวันที่ 20 ส.ค.2556 โดยเป้าหมายการหลบหนีไม่ได้อยู่ในประเทศไทยแต่ชาวโรฮิงยาต้องการข้ามฝั่งไปยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งในช่วงหลายวันที่ผ่านมาทางการมาเลเซียจับกุมชาวโรฮิงยาได้หลายสิบคน ก่อนส่งทั้งหมดมาอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ไทย
ซึ่งตลอด 1 เดือนที่ผ่านมาชาวโรฮิงยาถูกควบคุมตามสถานที่ต่างๆในประเทศไทยกว่า 1,000 คน และมีการรวมตัวประท้วง รวมทั้ง พยายามหลบหนีจากสถานที่ควบคุมตัว โดยนักวิชาการและผู้นำศาสนาเรียกร้องให้รัฐบาลมีความชัดเจนในการแก้ปัญหาชาวโรฮิงยา
ปัญหาชาวโรฮิงยากลายเป็นปัญหาระดับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นว่าตั้งแต่หลบหนีออกจากรัฐยะไข่ในประเทศพม่าจนถึงประเทศปลายทาง ชาวโรฮิงยาต้องจ่ายเงินให้กับขบวนการค้ามนุษย์ตลอดเส้นทาง จึงเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์อย่างเข้มงวด
เจ้าหน้าที่ระดับสูงในจ.สงขลารายหนึ่งเปิดเผยว่า สถานที่ควบคุมตัวชาวโรฮิงยาจะไม่มั่นคงแข็งแรงเหมือนห้องขังทั่วไปรวมถึงมาตรการดูแลที่ไม่เข้มงวด เพราะต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งไทยกำลังถูกจับตาจากนานาชาติ จึงเป็นช่องว่างให้ชาวโรฮิงยาซึ่งเกิดความเครียดหลังถูกควบคุมตัวเป็นเวลานานกว่าครึ่งปีพยายามหลบหนี และขณะนี้นายหน้าขบวนการค้ามนุษย์จะเข้ามาอยู่เบื้องหลังการหลบหนี โดยจะนำรถมารับชาวโรฮิงยาถึงสถานที่ควบคุมตัว