วาฬบรูด้า ที่ชายฝั่งอ่าวบางตะบูน
ทีมวิจัยของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพาทีมข่าวไทยพีบีเอส ลงเรือจากสะพานข้ามแม่น้ำบางตะบูน ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จ.เพชรบุรี ออกอ่าวบางตะบูน ไปดูวาฬบรูด้า ซึ่งตลอดช่วงเช้า ไม่พบวาฬบรูด้า ช่วงบ่ายจึงนั่งเรือไกลออกไปอีก พบวาฬบรูด้า เป็นคู่แม่ลูก ชื่อแม่กันยา กับ เจ้ามารวย แม่กันยามีความยาวประมาณ 12-13 เมตร ส่วนเจ้ามารวย ยาวประมาณ 10 เมตร คาดว่าน่าจะมีอายุ 2 ปี นักวิจัยเล่าว่า เจอแม่กันยาครั้งแรก เมื่อปี 2553 ส่วนเจ้ามารวย เจอเมื่อเดือนมกราคม ปีที่แล้ว ตำหนิของเจ้ามารวยคือมีลายตรงขอบปาก แต่ครั้งนี้เราไม่ได้เห็นวาฬอ้าปาก ส่วนแม่กันยา ครีบหลังมีลักษณะพิเศษ และมีลายตรงขอบปาก ซึ่งนี่เป็นตำหนิของแต่ละตัว ที่ทำให้นักวิจัยรู้ว่า วาฬที่พบนั้นคือตัวไหน ชื่ออะไร
นอกจากนี้เรายังพบวาฬอีกตัวหนึ่งที่มาว่ายน้ำใกล้ๆ แต่ไม่ทราบชื่อ เพราะครีบหลังไม่มีตำหนิ และเจ้าหน้าทีได้เห็นวาฬที่อยู่ไกลออกไปอีก รวมแล้วที่พบวันนั้น มีทั้งหมด 7 ตัว
ทีมวิจัย เริ่มมีการสำรวจเก็บข้อมูลวาฬบรูด้าบริเวณทะเลอ่าวไทยตอนบน หรืออ่าวไทยรูปตัว ก. ตั้งแต่ปี 2553 มีข้อมูลพบวาฬบรูด้า ทั้งหมด 45 ตัว แต่วาฬที่อาศัยที่บริเวณนี้อาจมีไม่ถึง เพราะอาจเป็นวาฬที่มาจากที่อื่น และมาหากินที่นี่
วิธีการเก็บข้อมูลของนักวิจัย คือถ่ายภาพ สังเกตตำหนิ ที่ขอบปากและครีบ แล้วตั้งชื่อวาฬ แต่ไม่สามารถระบุเพศได้ โดยจะทราบต่อเมื่อวาฬนั้นมีลูก จะเรียกตัวเมียที่ให้กำเนิดลูกว่าแม่ ส่วนวาฬที่เป็นลูก หรือวาฬตัวอื่นที่ไม่ทราบเพศก็จะเรียกว่าเจ้า โดยสิ่งที่จะทำให้วาฬลดจำนวนลงคือ สิ่งแวดล้อม คุณภาพน้ำ ที่จะส่งผลให้อาหาร อย่างปลา ลดน้อยลง และจะทำให้วาฬไม่มาอาศัยที่นี่ หรือลดการเกิดลง
ช่วงนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดโครงการประกวดตั้งชื่อลูกวาฬบรูด้า ซึ่งเป็นลูกของแม่สาคร ลักษณะพิเศษคือเจ้าลูกตัวนี้ ชอบกระโดดขึ้นเหนือน้ำ เพื่อให้คนหันมาสนใจความรู้เกี่ยวกับวาฬบรูด้า และร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยสามารถเสนอชื่อได้จนถึงวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ ทางเว็บไซต์ของกรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง http://www.dmcr.go.th/brydenamingcontest