ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กองทัพเตรียมรับสถานการณ์ก่อนมีคำตัดสินคดีพระวิหาร

ภูมิภาค
7 พ.ย. 56
04:29
59
Logo Thai PBS
กองทัพเตรียมรับสถานการณ์ก่อนมีคำตัดสินคดีพระวิหาร

ก่อนจะมีคำตัดสินคดีของศาลโลกกรณีปราสาทพระวิหาร กองทัพได้จับตาสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา อย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง พร้อมยืนยันว่า กำลังทหารเข้มแข็งพร้อมดูแลอธิปไตยของไทย ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านอำนาจของศาลโลก ยังจัดชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ชาวบ้านตามแนวชายแดนยังไม่มั่นใจในสถานการณ์

ชาวบ้านหลายคนที่อาศัยอยู่บริวเวณ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ใกล้เคียงบริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ เพราะเกรงว่า อาจเกิดเหตุรุนแรงในช่วงที่มีตัดสินคดีปราสาทพระวิหารของศาลโลก วันที่ 11 พฤศจิกายน

ขณะเดียวกันก็ยังมีรายงานว่า ขณะนี้ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านอำนาจศาลโลก ปักหลักชุมนุมที่บริเวณศาลหลักเมืองกันทรลักษ์ อ.กันทรลักษ์ โดยมีการจัดกิจกรรม และการปราศรัยอย่างต่อเนื่อง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ระบุถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ว่าต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ประชุมร่วมกับ กระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายความมั่นคง กองทัพไทย เหล่าทัพต่างๆ เพื่อพยายามหาทางปฏิบัติที่ดีที่สุดภายใต้กรอบสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ ขณะที่กองทัพภาคที่ 2 มีแผนเตรียมความพร้อมในพื้นที่อยู่แล้ว นอกจากนั้น กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ดำเนินการคู่ขนานมาโดยตลอด

ส่วนที่มีข่าวว่าฝ่ายกัมพูชาเสริมกำลังตามแนวชายแดนเพิ่มขึ้นนั้น ผู้บัญชาการทหารบก ระบุว่า กัมพูชามีการผลัดเปลี่ยน และโยกย้ายกำลังอยู่บ้างเพื่อไปฝึกหัด หรือ ทำงาน ซึ่งทุกประเทศทำเหมือนกัน ในส่วนของไทยก็ทำ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการยั่วยุ หรือกดดันกัน

สำหรับการประเมินคำตัดสินในคดีปราสาทพระวิหาร นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่า แนวทาง 4 ข้อที่กระทรวงการต่างประเทศที่มีการออกมาระบุก่อนหน้านี้ แสดงถึงความไม่มั่นใจของฝ่ายไทยที่จะชนะคดีในครั้งนี้

ขณะที่ รศ.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ความพยายามในการทำลายความน่าเชื่อถือในหลักฐานของฝ่ายกัมพูชา ที่ฝ่ายไทยได้พยายามชี้ให้ศาลโลกเห็น เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้น อาจไม่เป็นผลเท่าใดนัก เพราะหลักฐานที่ฝ่ายกัมพูชายกมาใช้ครั้งนี้ คือหลักฐานเดิมที่ศาลเคยใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินมาแล้วเมื่อปี 2505


ข่าวที่เกี่ยวข้อง