พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวกับไทยพีบีเอส ถึงทิศทางการเมืองในสัปดาห์นี้ ทั้งประเด็นที่ศาลรัฐธรรนูญจะวินิจฉัย คำร้องเรื่องที่มาของ ส.ว. รวมทั้งการชุมนุมใหญ่ทั้งของกลุ่มค้ดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และกลุ่มนปช. โดยระบุว่า ยังไม่เห็นสัญญาณที่จะนำไปสู่ความรุนแรงตามที่หลายฝ่ายแสดงความกังวล ซึ่งเมื่อดูจากบรรยากาศการชุมนุม ที่จะมีผู้มาร่วมชุมนุมในช่วงเย็นหลังเลิกงาน ช่วงสุดสัปดาห์ ขณะที่ ในช่วงเช้าการจราจรยังสามารถสัญจรได้ตามปกติ จึงเห็นว่ายังไม่มีสัญญาณที่จะเกิดความรุนแรงขึ้น แม้แต่กรณีการวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
พล.อ.เอกชัยแสดงความเป็นห่วงกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปตรวจค้นในพื้นที่ชุมนุม เนื่องจากสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการกระทบกระทั่ง และนำไปสู่ความรุนแรงได้ ซึ่งต้องระมัดระวังการดำเนินการลักษณะเช่นนี้เป็นอย่างมาก ส่วนการชุมนุมของกลุ่มนปช.นั้น ยังไม่เห็นสัญญาณของการเผชิญหน้า แต่หากกลุ่มสนับสนุนและต่อต้านรัฐบาลเข้ามาประชิดกันก็มีโอกาสที่จะเกิดการกระทบกระทั่งระหว่างกันได้ แต่ขณะนี้ก็ยังไม่เห็นสัญญาณของความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น เพราะเห็นว่าการชุมนุมของทั้ง 2 ฝ่ายเป็นเพียงการแสดงพลังให้เห็นว่า สามารถเรียกมวลชนให้ออกมาร่วมชุมนุมได้มากน้อยแค่ไหน ประกอบกับแกนนำการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็ประกาศว่าจะใช้แนวทางต่อสู้แบบสันติวิธี อารยะขัดขืน โดยไม่ใช้ความรุนแรง
แม้จะมีความกังวลต่อการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ แต่พล.อ.เอกชัยมองว่า สาเหตุที่จะเกิดความรุนแรงมาจากหลายประการ เช่น หากการชุมนุมสามารถระดมมวลชนออกมาได้จำนวนมากถึงหลักแสนคน และมีการเคลื่อนขบวน โดยเฉพาะเวลากลางคืน อาจเกิดอันตรายที่จะเกิดการสร้างสถานการณ์จากมือที่ 3 และผู้ชุมนุมมาประชิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหากมีการปะทะกัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระบองหรือแก๊สน้ำตาเข้าควบคุมสถานการณ์ ยิ่งมีโอกาสที่จะเกิดการกระทบกระทั่งกันมากยิ่งขึ้น รวมถึงหากรัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และใช้ทหารมาร่วมดูแลสถานการณ์ ก็จะเป็นสัญญาณที่จะนำไปสู่ความรุนแรง
ขณะที่ การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตามที่แกนนำประกาศระดมมวลชนจำนวน 1 ล้านคน ในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ พล.อ.เอกชัยมองว่า มีความเป็นไปได้ เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์เองก็มีฐานเสียง โดยเฉพาะในพื้นที่กทม. แต่ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะกล้าออกมาร่วมชุมนุมด้วยหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาก็มีผู้ได้รับผลกระทบจากการที่ออกมาร่วมชุมนุมทางการเมือง และมองว่าทั้งฝ่ายรัฐบาลเองและฝ่ายผู้ชุมนุมก็มีความตึงเครียดด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย การชุมนุมยิ่งมีเวลานานมากเท่าไหร่ ก็ต้องใช้ทุนมากและก็มีโอกาสที่มวลชนจะลดลง ขณะที่รัฐบาลเองก็ต้องระมัดระวังไม่ทำอะไรที่สุ่มเสี่ยง เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ส่วนบทบาทของกองทัพขณะนี้ถือยังวางตัวเงียบ นิ่งสงบ เป็นเพียงการติดตามสถานการณ์ต่างๆ และยังมองไม่เห็นสัญญาณที่ทหารจะออกมาควบคุมสถานการณ์ สำหรับทางออกของทั้งรัฐบาลและผู้ชุมนุม เห็นว่า ทางผู้ชุมนุมก็ต้องมีเป้าหมายการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน หยุดการชุมนุมเมื่อบรรลุเป้าหมาย ขณะที่รัฐบาลเองก็ต้องไม่เพิ่มเงื่อนไขใดๆ ที่เป็นจะทำให้เกิดการเรียกมวลชนออกมาชุมนุม