นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงกรณีการทำงานของสื่อในสถานการณ์การชุมนุมว่า ความรุนแรงในเวลามีการชุมนุม การใช้ความรุนแรงกับใครก็ตามไม่สมควรทั้งสิ้น และเป็นสิ่งไม่ควรให้เกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะผู้สื่อข่าว ขณะที่การชุมนุมในประเทศไทยที่ผ่านมาต่อเนื่องเชื่อมโยงกันมาตั้งแต่ยุคพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตั้งแต่มีการยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบิน และมีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.ตั้งแต่ปี 2552, 2553 ต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้จะเห็นว่าการชุมนุมมีผู้เข้าร่วมชุมนุมที่หลากหลาย มาจากที่ต่างๆ แม้แกนนำเองจะพยายามมีนโยบายไม่ให้เกิดความรุนแรง แต่ว่าการควบคุมเป็นไปได้ยาก ก็มีการปะทะมีการเข้าใจผิดอย่างที่ปรากฏ แต่สิ่งที่สมาคมนักข่าวฯเห็นปัญหานี้ตั้งแต่ในช่วงต้นๆ ก็เห็นว่าควรจะทำข้อตกลง หรือแสดงสัญลักษณ์อย่างชัดเจนเกี่ยวกับผู้สื่อข่าว โดยในช่วงที่ตนเองเป็นนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยก็เริ่มมีปลอกแขนสีเขียวอย่างที่ใช้ในปัจจุบัน แต่ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ถัดมาช่วงหลังพอเริ่มตกลง ผู้สื่อข่าวทั้งใน และต่างประเทศเริ่มใช้ปลอกแขนนี้เป็นสัญลักษณ์ กรรมการสมาคมฯก็ดี หรือนายกสมาคมฯในแต่ละยุคก็ดีจะไปเจรจากับตำรวจ ทางการ ทางรัฐบาลก็ดี หรือผู้ชุมนุมว่ามันมีสัญลักษณ์แบบนี้ให้อำนวยความสะดวก หรืออย่าทำร้ายกับทางผู้สื่อข่าว ก็ได้ผลพอสมควร
ทั้งนี้ การที่กลุ่มผู้ชุมนุมมีหลากหลาย และบางครั้งแกนนำ หรือผู้ที่ปราศรัยบนเวที ซึ่งรู้สึกว่าอาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสื่อช่องต่างๆ ก็ปราศรัยยั่วยุบ้าง โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.พูดว่าก็ไปทำร้ายแต่ปาก แต่ว่าคำพูดพวกนี้ไปกระตุ้นเร้าคนที่ไม่พอใจเป็นพื้นฐานอยู่ การปะทะกันต้องเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา แต่ไม่ได้เห็นด้วย เพียงแต่ว่าอธิบายปรากฏการณ์ แต่สิ่งที่จะแก้ไขให้มากในขณะนี้คือมีการตกลงกัน อย่างตัวแทนสมาคมนักข่าวฯที่ไปตกลงกับทาง กปปส.ก็ได้ผลระดับหนึ่ง โดยเริ่มมีการกันพื้นที่ และทางแกนนำรับปากว่าจะตั้งการ์ดเฉพาะขึ้นมา ซึ่งเป็นทางออกที่ดี อย่างไรก็ตาม คิดว่าพวกนี้มันอยู่ในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่ถ้าดูสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันคงจะยืดเยื้ออีกนานพอสมควร ดังนั้น แม้ทางแกนนำได้รับปากแล้ว แต่คิดว่าสถานการณ์ที่พัฒนาไป พอคนอยู่ไปนานๆ จะเครียด พอเครียดโอกาสจะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่มีใครตอบได้
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานใช้เวลาเคลียร์กันนานมาก ฉะนั้น ผู้สื่อข่าวเองต้องระมัดระวังตัวเองสูง อยากให้ทำตามสิ่งที่ได้ตกลงกันอย่างเคร่งครัด เช่น มีปลอกแขน และพยายามทำตัวให้กลมกลืน มีความอดทนในการควบคุมอารมณ์ และสำคัญที่สุด คิดว่าอยากจะให้การชุมนุมของประเทศไทยถ้าเกิดยังมีในอนาคตเกิดขึ้นอีกให้อยู่ในเงื่อนไขของสงบ สันติ และอหิงสาอย่างที่ประกาศอย่างแท้จริง โดยแกนนำจะต้องไม่ไปยั่วยุให้ผู้ชุมนุมเกิดอารมณ์ ขณะเดียวกัน คิดว่าต้องยอมรับข้อบกพร่องของฟรีทีวีบางช่องอยู่ เช่น วันแรกที่มีการบุกไปยึดสถานที่ราชการต่างๆ ถ้าตื่นเช้ามาในวันอาทิตย์วันนั้น ถ้าดูจากฟรีทีวีจะไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นเลย เท่ากับเป็นการผลักคนไปดูทีวีดาวเทียว ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเมืองของช่องต่างๆ อยู่แล้ว คนที่กลางๆ อยากจะหาข้อมูลตรงกลางๆ ก็จะหาไม่ได้ เพราะตื่นเช้ามาทุกช่องใช้รายการปกติหมด ทั้งที่ประชาชนควรจะรับรู้ข้อมูลข่าวสาร รายงานสถานการณ์ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไปเกาะติดเวที กปปส. แต่ว่ารายงานสถานการณ์ให้คนรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น คิดว่าตรงนั้นจะช่วยทางออก และเป็นการปรับตัวกันทั้ง 2 ฝ่ายว่าการให้ข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นในภาวะบ้านเมืองไม่ปกติกับประชาชนเป็นสิ่งที่เป็นทางออกได้