ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เศรษฐกิจพัง "ฝุ่นPM2.5" มหันตภัยเงียบ กร่อนทำลาย "มนุษย์"

สังคม
22 ม.ค. 68
18:52
24
Logo Thai PBS
เศรษฐกิจพัง "ฝุ่นPM2.5" มหันตภัยเงียบ กร่อนทำลาย "มนุษย์"

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก “PM2.5”วิกฤตหนักในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่อง หากยังมีสภาพอากาศปิด ไร้แรงลมที่จะทำ ให้ฝุ่นหรือควันต่างๆไม่สามารถลอยขึ้นไปได้ และไหลย้อนลงสู่พื้นดินจนสะสมมากขึ้น กลายปัญหาที่ประเทศไทยยังไม่สามารถไขได้ นอกจากมาตรการตั้งรับเบืิ้องต้น คือ WORK FOR HOME และลดการใช้รถบนท้องถนน 

ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ยังเกินเกณฑ์มาตรฐานทั้ง 50 เขต มีพื้นที่สีแดง 5 เขต ขณะที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 62.6 มคก./ลบ.ม. นี้คือตัวเลขล่าสุดที่คนไทยยังคงต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว

รศ. ดร.วิษณุ อรรถวานิช รองศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผย รายงานการวิจัยว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุทำให้คนที่อาศัยในเขตเมืองและชนบทเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสูงถึง 4.2 ล้านคนทั่วโลกในปี 2559 ซึ่งนับว่าเป็นมลพิษที่สร้างความเสียหายสูงสุดเมื่อเทียบกับมลพิษประเภทอื่น ๆ

โดยร้อยละ 92 ของผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรทั้งหมดนี้อยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงแปซิฟิกตะวันตกมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุด (WHO, 2018) ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เผชิญปัญหามลพิษทางอากาศมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะมลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก

งานวิจัยของ รศ. ดร.วิษณุ ระบุไว้เมื่อปี 2562 ว่า ฝุ่น PM2.5 สร้างมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์ต่อครัวเรือนไทย 2.173 ล้านล้านบาท และหากรวมทุกสารมลพิษ (PM10, PM2.5, CO, NOx, NO2) มูลค่าความเสียหายต่อครัวเรือนไทยจะสูงถึง 4.616 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้งานวิจัยของ ดร.วิษณุ ชี้ว่า หลักๆ แล้วมลพิษทางอากาศของไทยที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นมาจาก 4 ประเด็น 1.ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจมากและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมน้อย สังเกตจากตัวเลขการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายภาครัฐช่วงปี 2558–2562 จะพบว่า งบประมาณรายจ่ายด้านการเศรษฐกิจ (545,023–656,400 ล้านบาทต่อปี) มีสัดส่วนที่สูงเป็นอันดับที่ 2 รองจากงบประมาณรายจ่ายด้านการบริหารทั่วไปของรัฐ (576,735–671,385 ล้านบาทต่อปี)

รัฐบาล "เมิน" แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

โดยงบประมาณรายจ่ายด้านการสิ่งแวดล้อมมีสัดส่วนน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่ายตามลักษณะงานอื่น ๆ ซึ่งมีงบประมาณรายจ่ายเพียง 3,929–10,945 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายของประเทศ 2.56–3.05 ล้านล้านบาท แสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมาไทยให้ความสำคัญด้านการป้องกันและรักษาสิ่งแวดล้อมน้อยมาก

คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.4 ของงบประมาณปี 2562 และหากเปรียบเทียบสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อมต่องบประมาณรายจ่ายรวมกับประเทศหรือภูมิภาคอื่น ๆ

ไทยมีสัดส่วนงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมน้อยมาก ปี 2559 ไทยมีสัดส่วนงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมต่องบประมาณรายจ่ายรวมร้อยละ 0.25 ขณะที่สหภาพยุโรป 28 ประเทศ (EU-28) และจีน มีสัดส่วนงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมต่องบประมาณรายจ่ายรวมร้อยละ 1.62 และ 2.52 ตามลำดับซึ่งถือว่าสูงกว่าไทยมาก

นอกจากเรื่องงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว สิ่งที่สะท้อนว่าประเทศไทยให้ความสำคัญมากด้านเศรษฐกิจและให้ความสำคัญน้อยกับสิ่งแวดล้อมมีอีกหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น ไม่เปลี่ยนแปลงค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศให้เข้มงวดขึ้น ไทยเริ่มกำหนดค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในปี 2538, 2547, 2550, 2552 และ 2553 และยังไม่มีการปรับปรุงหลังจากนั้น และได้มีการเริ่มกำหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 ตั้งแต่ปี 2553 แต่ยังไม่มีการเก็บข้อมูลที่แพร่หลาย

ขาดการสร้างความตระหนักรู้เรื่องผลกระทบเชิงลบจากมลพิษทางอากาศ แม้ว่าไทยกำหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 ตั้งแต่ปี 2553 แต่ประชาชนน้อยมากที่ทราบถึงอันตรายที่ร้ายแรงของมลพิษดังกล่าวและไม่มีการตรวจวัดในพื้นที่อย่างทั่วถึง รวมถึงการเก็บภาษีรถเก่าในอัตราที่ต่ำกว่ารถใหม่ทำให้มลพิษเพิ่มขึ้นเนื่องจากรถเก่ามีการปลดปล่อยมลพิษที่มากกว่ารถใหม่

และการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่คำนึงถึงความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้มาตรการรถคันแรกในช่วงปลายปี 2554 ทำให้มีการซื้อรถใหม่กันมากขึ้น ขณะที่รถเก่าก็ยังอยู่ในระบบซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดและนำไปสู่การปลดปล่อยมลพิษจำนวนมาก

เราคงต้องให้ความสำคัญเรื่องงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เพื่อให้เป้าหมายที่ตั้งไว้ของไทยประสบผลสำเร็จทั้งเรื่องฝุ่นที่เป็นวาระแห่งชาติ ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยรวม และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ดร.วิษณุ ระบุอีกว่า ที่ผ่านมาเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ถูกนำมาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมน้อยมาก หากภาครัฐไม่มีนโยบายหรือเป้าหมายที่ชัดเจนเรื่องการยกระดับคุณภาพอากาศ เอกชนย่อมไม่มีความพยายามในการปรับตัวเพราะจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นและกำไรลดลง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ มาตรฐานไอเสียและน้ำมันยูโร 4 ซึ่งประเทศไทยเริ่มใช้ในปี 2555 และมีแผนว่าจะยกระดับไปสู่มาตรฐานยูโร 5 เมื่อปี 2563

โดยแผนดังกล่าวได้ถูกเลื่อนออกไปเป็นปี 2565 และ 2567 ตามลำดับ และล่าสุด ได้ปรับย่นระยะเวลาการใช้มาตรฐานเป็นปี 2566 เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากสังคมที่มีความกังวลกับมลพิษทางอากาศ ตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความไม่ชัดเจนของผู้กำหนดนโยบายในการปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ไทยควรมีการนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น

แผนแม่บทดี "ขาด"แม่งาน ติดตาม

นอกจากนี้ ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จและคอยติดตามประเมินผล เพื่อจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังแม้ไทยจะมีแผนแม่บท แผนยุทธศาสตร์ หรือแผนปฏิบัติการที่ดี แต่มักจะไม่มีการติดตามและประเมินผล และไม่มีบทลงโทษที่ชัดเจนหากไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ดังนั้นควรมีการพิจารณาจัดตั้งหน่วยงานที่กำกับดูแลเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเหมือนเช่นในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาที่มีการจัดตั้งสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (US EPA) และพิจารณาบูรณาการกฎหมายจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายเข้าด้วยกัน พร้อมกับเน้นการติดตามและประเมินผลอย่างเข้มงวดพร้อมบทลงโทษที่ชัดเจน

รวมถึงการขาดการศึกษาวิจัยอย่างถ่องแท้ก่อนนำมาตรการมาใช้ในทางปฏิบัติ หลาย ๆ มาตรการที่นำมาใช้ยังไม่ได้มีผลการศึกษาวิจัยมาลองรับ เช่น กรณีที่รัฐบาลอาจพิจารณานำ มาตรการคุมรถวันคู่-คี่ มาใช้ หากมลพิษทางอากาศเข้าขั้นวิกฤติซึ่งยังไม่ได้มีผลการศึกษาวิจัยมาลองรับว่าจะใช้ได้ผลหรือไม่ ในต่างประเทศ ซึ่งมาตรการคุมรถวันคู่-คี่ไม่สามารถลดมลพิษได้เสมอไป แต่อาจจะทำให้มลพิษยิ่งแย่กว่าเดิม

โดยงานศึกษาของ Davis (2008) ที่ทำการประเมินผลของ มาตรการคุมรถโดยใช้เลขทะเบียนรถหลักสุดท้าย ในเม็กซิโก มาตรการนี้ถูกนำมาใช้เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงมากในกรุงเม็กซิโกซิตี้ช่วงฤดูหนาว เหมือนกรุงเทพที่เป็นช่วงอากาศตายและไม่มีลม ผลการศึกษาพบว่า มาตรการข้างต้นไม่สามารถลดมลพิษทางอากาศได้ในทุกกรณี

แต่กลับทำให้มลพิษทางอากาศรุนแรงมากขึ้นในช่วงวันหยุด และวันธรรมดาช่วงที่ไม่ใช่ชั่วโมงเร่งด่วน เนื่องคนไม่ยอมหันไปใช้รถโดยสารสาธารณะตามที่รัฐบาลคาดการณ์ แต่กลับหันไปซื้อรถใหม่กันมากขึ้น รถใหม่บางส่วนที่ซื้อคือรถยนต์มือสองที่อายุการใช้งานนาน ทำให้ระบบการเผาไหม้ของเครื่องยนต์มีประสิทธิภาพน้อยกว่ารถใหม่ เพื่อให้สามารถมีรถยนต์ขับกันได้ทุกวัน

ไทย รั้งเบอร์ 5 แก้ปัญหาฝุ่น "อาเซียน"

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2568 ระบุว่า หากเทียบกับประเทศอาเซียนด้วยกัน ไทยมีปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศแย่ อันดับ 36 ของโลก และอันดับที่ 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่เป็นอันดับที่ 37 ของเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดของโลก มีปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 เฉลี่ยรายปี 21.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

โดย จ.เชียงราย และ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ถูกจัดอยู่ใน 5 อันดับแรกของพื้นที่ที่มีฝุ่นพิษ PM2.5 แย่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ไทยมีค่าเฉลี่ยฝุ่นพิษ PM2.5 รายปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลในปี 2565เพิ่มจาก 18.1ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 23.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

แน่นอนว่า สาเหตุหลักๆที่ทำให้เกิดฝุ่นPM2.5 ที่มีการเผาไหม้ในที่โล่ง ถึง 209,937 ตันต่อปี ส่วนภาคอุตสาหกรรมมีการปล่อยมลพิษถึง 65,140 ตันต่อปี ภาคการคมนาคมขนส่ง 50,240 ตันต่อปี และภาคการผลิตไฟฟ้า 31,793 ตันต่อปี

ทั้งนี้ผลกระทบจากPM2.5 พบว่า ไทยมีผู้เสียชีวิตจากวัยอันควรจากมลพิษในอากาศมากถึง 50,000 คน โดยมะเร็ง เป็น1 ใน8ของประชากรโลกที่เสียชีวิตอันควรด้วยฝุ่นPM2.5 ที่เป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็งตั้งแต่ปี2566

นอกจากนี้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังก่อให้เกิดค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจในกรุงเทพฯและปริมณฑล ด้านสุขภาพ 2,000-3,000 ล้านบาท ธุรกิจอื่นๆ 200-600 ล้านบาท และท่องเที่ยว 1,000-2,400 ล้านบาท (ศูนย์วิจัยกสิกร 2566) ในขณะที่เศรษฐกิจโลก กว่าร้อยละ 80ของประชากรโลกได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรงจากฝุ่นPM2.5คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 8.1ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ6.1 ของจีดีพีโลก

 "เผา-ควันรถยนต์" ทำค่าฝุ่นสูง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 พร้อมขยายความต่อ พื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมถึงราชบุรี เพชรบุรี ก็มีค่าฝุ่นสูงเช่นกัน โดยฝุ่นใน กทม.สาเหตุหลักมาจากรถยนต์และการเผา โดยเฉพาะจากรอบนอก กทม.ประกอบกับสภาพอากาศปิด

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม.

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม.

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม.

ในขณะที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า รัฐบาลแก้ปัญหามาตรการฝุ่น PM2.5 มาอย่างต่อเนื่อง ยืนยันว่ารัฐบาลมีการหามาตรการป้องกัน PM 2.5 อย่างเข้มข้น ซึ่งในต่างจังหวัดปัจจัยกำเนิดฝุ่นน้อยกว่ากทม. เพราะมาจากไฟป่า ซึ่งหากเกิดไฟป่าควบคุมได้ ต่างจากกทม.ปัจจัยมาจากรถยนต์ ฝุ่นจากการก่อสร้าง การเผารอบๆ พื้นที่กทม.และการระบายอากาศไม่ดีทำให้กทม.เผชิญฝุ่นนานนับสัปดาห์

สำหรับมาตรการในการควบคุมรถยนต์และการขนส่งต้องลดควันดำ รวมทั้งการคุมการก่อสร้างในขตเมือง ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องช่วยกันคุมการเผาพื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะการเผาไร่อ้อย ทั้งนี้กระทรวงเคยเสนอว่าให้ กทม.และคมนาคมคุยกับรถไฟฟ้าว่าในช่วงพีคของฝุ่น PM2.5 จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเปิดให้คนใช้บริการฟรี เพื่อลดการใช้รถ

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชีวิตมนุษย์อย่างเดียว ทว่าในแต่ละปีสร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล จึงน่าจับตาว่า อนาคตประเทศไทยจะเป็นอย่างไร หากปัญหาฝุ่นยังไม่ถูกยกระดับเป็นวาระชาติ

ที่มา:

 อ่านข่าว:

 “ทรัมป์” คืนบังลังก์ เขย่า “เทรดวอร์” สงครามการค้าสะเทือนทั่วโลก

ครม.ไฟเขียว “ภาษีคาร์บอน” 200 บาท/ตัน หนุนไทยสู่ Net Zero 

พิษฝุ่น PM 2.5 ทำผิวแก่เร็ว โรคผิวหนังกำเริบ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง