วิเคราะห์ข้อกฎหมายเลื่อน
ผ่านพ้นมาแล้ว 2 วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ยังไม่สามารถเปิดรับสมัคร ลงรับเลือกตั้งส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ให้ถูกต้องครบถ้วนตามพ.ร.บ.เลือกตั้ง ภายใต้พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรและเลือกตั้งใหม่ วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557ได้และยังคงเหลืออีก 2 วันที่ กกต.จะต้องวินิจฉัยแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งกรณีออกประกาศเปลี่ยนสถานที่ และเปลี่ยนกรอบเวลาการรับสมัครใหม่ หรืออาจรวมไปถึงการพิจารณาเสนอแนะรัฐบาล เพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไป
นักกฎหมายอันดับต้น ๆ ของประเทศ อย่างนาย "มีชัย ฤชุพันธ์" ออกมาชี้ช่องการเลื่อนวันลงคะแนนออกไป โดยอ้างอิงเหตุสุดวิสัยอื่น ตามมาตรา 78 ของพ.ร.บ.เลือกตั้ง ซึ่งเป็นกรณีเดียวกับเกิดภัยพิบัติ แต่จะต่างก็ตรงที่ต้องเลื่อนทั่วประเทศ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ความเห็นนี้กลับพ้องและสอดคล้องกับข้อสังเกตของอดีต กกต. นายยุวรัตน์ กมลเวช ที่เคยชี้ว่า วันเลือกตั้งสามารถคงไว้ตามพระราชกฤษฎีกา แต่ให้เลื่อนวันลงคะแนนออกไป โดยดำเนินการไม่ต่างจากการกำหนดวันลงคแนนเลือกตั้งล่วงหน้า หรือการใช้สิทธิ์นอกราชอณาจักร หากตั้งสมมุติฐานไว้ที่ การเมือง 2 ขั้ว สามารถสรุปความเห็นตรงกันได้ ในกรณีควรเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน กกต.สามารถออกประกาศเลื่อนวันลงคะแนนออกไปจะอย่างน้อย 30 วัน หรืออย่างมาก 6 เดือนและใช้เวลานับจากนี้เดินหน้าปฏิรูปประเทศ ตามเจตจำนงที่ตกลงร่วมกัน ก็อาจเป็นไปได้ที่จะมาลงคะแนนเลือกตั้งหลังการปฏิรูป ราวเดือน ส.ค.57 แต่หลังได้ส.ส.ต้องถือสมาชิกภาพสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ มีอายุแค่ 3ปีครึ่ง โดยนับตามพระราชกฤษฎีกา 2 ก.พ.57
สำหรับมาตรา 78 ตามพ.ร.บ.เลือกตั้งบัญญัติไว้ว่า การเลือกตั้งในหน่วยใดไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเหตุจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่น ให้ กกต.กำหนดที่เลือกตั้งใหม่ได้ และด้วยข้อกฎหมายที่ว่านี้ จึงเป็นเหตุให้ตีความ วันเลือกตั้ง และวันลงคะแนนเป็นคนละวันกัน แต่ยังคงอยู่ภายใต้ พ.ร.ฎ.ฉบับเดิม หากแต่การวินิจฉัยดำเนินการหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ กกต.ทั้ง 5 คน