จับตาตัวเต็ง Eurovision 2015
ความสนุกสนานในการลุ้นผู้ชนะรายการประกวดร้องเพลงชื่อดังของยุโรปอย่าง Eurovision คือการได้ลุ้นให้นักร้องที่ไม่มีใครรู้จัก ให้กลายเป็นศิลปินผู้ประสบความสำเร็จในวงการเพลง ซึ่งปีนี้ตัวแทนจากหลายประเทศได้ดึงเอาเอกลักษณ์ของตนเองมาใช้เรียกคะแนนโหวตกันอย่างสูสีเลยทีเดียว
ถึงฉันจะแตกต่าง แต่มันเป็นเรื่องธรรมดา คือเนื้อหากระตุ้นความเชื่อมั่นในตนเองของ Beauty Never Lies เพลงที่ โบยาน่า สตาเมนอพ ตัวแทนของประเทศเซอร์เบียใช้ประกวดการแข่งขันร้องเพลงชื่อดังของยุโรปอย่าง Eurovision Song Contest ประจำปีนี้ นอกจากจังหวะอันสนุกสนานแล้ว เนื้อเพลงที่เอาใจกลุ่มเพศทางเลือก ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ชมหลักของ Eurovision ทำให้การแสดงของเธอได้รับเสียงเชียร์อย่างล้นหลาม จนถูกจับตาว่าเป็นหนึ่งในตัวเต็งที่จะคว้าชัยชนะในปีนี้
โบยาน่า สตาเมนอพ ได้รับการจับตา หลังมีการเปิดเผยว่าเพลงที่ใช้ในการประกวด เป็นผลงานการประพันธ์ของ ชาร์ลี เมสัน นักแต่งเนื้อเพลงคู่บุญของ ไมลีย์ ไซรัส เจ้าของบทเพลง Rise Like A Phoenix ที่ส่งให้ คอนชิต้า เวิร์สต์ ตัวแทนจากออสเตรียชนะในการแข่งขันเมื่อปีก่อน ซึ่งทั้ง โบยาน่า สตาเมนอพ และคอนชิต้า เวิร์สต์ ต่างใช้เพลงของเมสัน ร่วมกับเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร เปลี่ยนสถานะจากผู้ประกวดที่ไม่มีใครจับตาในรอบแรก กลายเป็นตัวเต็งในรอบชิงชนะเลิศทั้งคู่
ผู้ที่ได้รับการจับตาว่าเป็นตัวเต็งในปีนี้ ยังมีทั้ง มานส์ เซลเมอร์โลว์ ตัวแทนจากประเทศสวีเดนที่โดดเด่นด้วยเพลงสไตล์ป็อปแดนซ์อันขึ้นชื่อของสวีเดน ร่วมกับลีลาการแสดงบนเวทีอันตื่นตา รวมถึง โพลิน่า กาการิน่า ตัวแทนจากรัสเซีย โดยเธอไม่เพียงได้รับเสียงเชียร์จากผู้ชมในห้องส่ง แต่ยังได้แรงสนันสุนจากในประเทศ เมื่อกรมตำรวจรัสเซียได้จัดทำคลิปวิดีโอพิเศษ เพื่อให้กำลังใจเธอโดยเฉพาะ หลังตัวแทนของรัสเซียถูกผู้ชมโห่กลางเวทีเมื่อปีที่แล้ว เพราะปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศจากครั้งที่กองกำลังรัสเซียบุกยึดเขตแดนของประเทศเพื่อนบ้านเมื่อปีก่อน
แม้ผู้จัด Eurovision Song Contest มีข้อห้ามไม่ให้ผู้ประกวด ใช้เวทีเป็นที่แสดงออกทางการเมือง แต่ผลงานเพลงที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงในปีนี้ ต่างสอดแทรกเนื้อหาทางการเมืองหลายเพลง ทั้งเพลงโจมตีรัฐบาลตุรกีจากตัวแทนของอาร์เมเนีย หลังทางการตุรกีไม่ยอมรับการฆ่าล้างเผาพันธุ์ชาวอาร์เมเนียกว่า 1.5 ล้านคนเมื่อ 100 ปีที่แล้วในเพลง don’t deny, ตัวแทนโรมาเนียพูดถึงปัญหาเยาวชนที่ผู้ปกครองต้องไปหางานทำในต่างประเทศ, ตัวแทนฮังการีพูดถึงอนาคตอันมืดหม่น เมื่อโลกยังเต็มไปด้วยสงคราม ส่วนตัวแทนของกรีซได้ขอโอกาสให้กับประเทศของเธออีกครั้ง ผ่านการแสดงเพลง One Last Breath หลังกรีซกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจซบเซามาหลายปี