รัฐบาล-คสช.แถลงผลงาน 1 ปี
นอกจากผลงานตามโรดแมป 3 ระยะ และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่รัฐบาล-คสช.อ้างอิงเป็นผลงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา แถลงต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติและสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว ไฮไลท์สำคัญ ยังอยู่ระหว่างการซักถามของสมาชิก ถึงกรณีการทำประชามติ ด้วยข้อเสนอให้"ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง" เป็นแนวทางหนึ่ง เพื่อรองรับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หากไม่ได้รับความเห็นชอบ และแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ตอบชัดเจนว่าจะเลือกแนวทางใด แต่ก็ระบุว่า "ถ้าทุกคนอยากให้ผมอยู่..ผมก็พร้อมจะอยู่"
"ให้ผมอยู่ ผมก็อยู่ อยู่ด้วยความชอบธรรมนะ ไม่ใช่อยู่ด้วยอำนาจ คนอยากให้อยู่ผมก็ทำให้แต่ต้องช่วยปกป้องผมจากภายนอกประเทศ ในประเทศด้วยก็มีคนกล่าวหาผมว่าอยากสืบทอดอำนาจ ไม่ได้ต้องการอำนาจเพราะว่าผมไม่ได้ผลประโยชน์ ผมต้องการทำประเทศชาติให้ดีขึ้น แต่อย่างไรผมไม่รู้มันเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ" นี่เป็นถ้อยคำส่วนหนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าแถลงผลงานต่อ สนช.และสปช. และถ้อยคำนี้ ก็สอดคล้องกับช่วงหนึ่งของการแถลง ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่า ควรเลือกแนวทางไหน เมื่อถูกตั้งคำถามว่า ควรจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ซึ่งหมายถึงการต่ออายุไปอีก 2 ปี พร้อมกับชี้ว่า ผู้ตัดสินใจคือประชาชนทั้งประเทศ
ที่มาของข้อเสนอนี้ คือ หนึ่งในเงื่อนไขที่เสนอไว้รองรับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กรณีไม่ผ่านความเห็นชอบซึ่งนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สนช.หรือในฐานะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้เสนอ และเป็นผู้ตั้งข้อซักถามนายกรัฐมนตรีระหว่างแถลงผลงาน ก่อนจะลงมาแถลงเชิญชวนให้ประชาชน ที่เห็นด้วยว่ารัฐบาลควรจัดทำประชามติ ว่าด้วยการปฎิรูปก่อนการเลือกตั้ง มาร่วมลงชื่อ เพื่อรวบรวมและเสนอต่อนายกรัฐมนตรี
ขณะที่ล่าสุดนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เปิดเผยถึงแนวทางรองรับหากการทำประชามติไม่ผ่าน ซึ่งวางกรอบไว้ 4 แนวทาง คือการกลับไปใช้กระบวนการเดิม โดยตั้ง สปช.และคณะกรรมาธิการยกร่างฯขึ้นใหม่, การตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างฯขึ้นใหม่ แต่ไม่ตั้ง สปช., การมอบหมายให้ สนช.เป็นคนจัดทำ, และการจัดตั้งองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือหลายองค์กร เพื่อทำหน้าที่หยิบยกรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่ง ขึ้นมาปรับปรุง บังคับใช้
มีรายงานว่า ทั้ง 4 แนวทางนี้ หรือจะรวมแนวทางที่ 5 ของนายไพบูลย์เข้าไปด้วยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเห็นชอบร่วมกันของแม่น้ำ 5 สาย หรือโครงสร้าง 5 ฝ่าย ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว นั่นคือ คสช. ครม. สนช. สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่นัดหมายที่จะประชุมกัน ในวันที่ 17 มิถุนายนนี้