จากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรง และส่งผลกระทบต่อผู้คนในวงกว้าง ทำให้ที่ผ่านมา มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจำนวนมาก ในฐานะผู้อนุญาตและผู้ผลักดันโครงการพัฒนาต่างๆ ซึ่งอาจเป็นผู้ที่ก่อความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรงจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คน และชุมชน ขณะที่กระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม มีกระบวนการที่เกี่ยวของกับหน่วยภาคส่วน ทำให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณาคดี จนส่งผลให้การแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมยากเกินเยียวยา
ทำให้ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่มีการปฏิรูปประเทศ มีความพยายามผลักดันร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมและวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม พ.ศ... ที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. และ ร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม พ.ศ....ที่สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้เสนอ เนื่องจากเห็นว่ากฎหมายที่มีอยู่ยังมีข้อจำกัดในกระบวนการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม ทำให้ศาลไม่สามารถเดินหน้าได้ จนเกิดความล่าช้าในการพิจารณาคดี ทำให้ไม่ทันต่อการเยียวยาและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (13 ก.พ.) ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาวิชากฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม จัดเวทีเสวนาเพื่อวิพากษ์ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมและวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม และร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมขึ้น เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม และมุมมองคดีสิ่งแวดล้อมทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และคดีปกครอ ให้องค์กรที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาปรับปรุงเนื้อหาร่างกฎหมายให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ศ.พิเศษ ภัทรศักดิ์ วรรณแสง รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 หนึ่งในผู้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม สำนักงานศาลยุติธรรม บอกว่า ที่ผ่านมาอุปสรรคของการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม คือ กระบวนการศาลยังมีปัญหาอยู่มากเพราะขาดยุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกับผู้ที่ได้รับผลกระทบยังมีช่องทางในการฟ้องร้องต่อศาลไม่มากเท่าที่ควร ทำให้ต้องผลักดันร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม พ.ศ.โดยจะเน้นการสร้างระบบใหม่ในคดีสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่ต้องปรับเปลี่ยงองค์กร โดยให้ศาลมีเครื่องมือใหม่เพิ่มขึ้น การใช้ดุลพินิจที่กว้างขึ้น เพื่อให้เกิดความกระชับและรวดเร็วในการพิจารณาคดี
“หากร่างกฎหมายนี้บังคับใช้ ประชาชน รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนหรือ เอ็นจีโอ สามารถเข้ามายื่นคำร้องต่อศาลได้ทันที ถ้าเห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยไม่ต้องให้ทนายความเป็นผู้ยื่นฟ้อง ซึ่งจะเป็นการป้องกันการเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม มากกว่าการมีกฎหมายไว้เพื่อใช้ในการเรียกค่าเสียหายและเยียวยาผลกระทบ” ศ.พิเศษ ภัทรศักดิ์กล่าว
ศ.พิเศษ ภัทรศักดิ์กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้เน้นที่การบังคับเป็นคดีแพ่ง คือให้มีการชดเชยค่าเสียหาย ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาสิ่งแวดล้อมมักจะเป็นผลที่เกิดในระยะยาว ที่อาจจะต้องรอให้เกิดความเสียหาย ซึ่งกฎหมายในปัจจุบันยังไปไม่ถึง แต่หากมีการใช้ร่างกฎหมายวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม ก็จะทำให้ดุลยพินิจของศาลกว้างขึ้น เช่น อาจจะมีการสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและสั่งให้มีการฟื้นฟูความเสียหาย
“ปัจจุบันแผนกคดีสิ่งแวดล้อมมีอยู่แล้ว ในศาลแพ่ง ในศาลฎีกาก็มี แต่ที่เป็นปัญหาเพราะกฎหมายวิธีพิจารณาความยังไม่ตอบโจทย์ต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เช่นหลายเรื่องที่ศาลต้องสั่งให้มีความพิพากษาไป ไม่สามารถเยียวยาความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมได้ เพราะกฎหมายไม่เอื้อ แม้ว่าจะมีแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ก็ยังมีข้อติดขัด ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมก็จะแก้ปัญหาในทางปฏิบัติ ที่ศาลไม่สามารถทำได้”ศ.พิเศษ ภัทรศักดิ์ กล่าว
ด้าน ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา ในฐานะอดีตที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวว่า ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีเจตนารมณ์ที่เหมือนกัน คือต้องการให้กระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมมีการปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพ แต่ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมและวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม พ.ศ..ที่เสนอโดย สปช. จะแต่งต่างตรงที่เสนอให้จัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นการปฏิรูประบบการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมที่ต้องมีการตั้งองค์กรใหม่ โดยเป็นการรวมศูนย์การพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนเข้ามาฟ้องร้องได้ที่ศาลสิ่งแวดล้อม
“ศาลสิ่งแวดล้อมเป็นคำใหม่มาก สำหรับประเทศไทย ซึ่งหลายประเทศมีศาลสิ่งแวดล้อมมานานกว่า 20 ปีแล้ว ขณะที่ประเทศไทยคำนี้อาจจะเป็นคำใหม่ แต่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะประเด็นสำคัญอาจจะต้องดูว่า เรามีความสามารถในการจัดตั้งศาลพิเศษพิจารณาคดีเฉพาะสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่ อาจจะต้องมองถึงประโยชน์สูงสุด ที่ประชาชนจะได้รับ” ดร.สุนทรียา กล่าว
ดร.สุนทรียา กล่าวต่อว่า ปัญหาสวิ่งแวดล้อมวันนี้มีความหลากหลาย ซับซ้อน จำเป็นต้องมีเจ้าภาพเฉพาะที่เป็นทางการ และสามารถมองทั้งระบบการพิจารณา ดังนั้น ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมและวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมจะไม่ได้เน้นเฉพาะการมีศาลพิเศษที่เป็นศูนย์กลาง แต่จะเน้นไปถึงการทำงานของพนักงานสอบสวน อัยการและเจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ที่เป็นต้นน้ำ จำเป็นต้องมีศูนย์บังคับคดีในระดับพื้นที่เพื่อติดตามการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม หลังศาลพิพากษาคดีไปแล้ว
“จากร่างกฎหมายนี้ ไม่เน้นแค่การจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม แต่จะต้องเป็นการกำหนดกลไก และระบบการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม เช่นเมื่อศาลพิพากษาคดีไปแล้ว ก็ไม่ได้แปลว่ากระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมจะจบลงที่ศาล แต่จะต้องมีกระบวนการบำบัดฟื้นฟู ดูแลผู้คนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจจะต้องมีกระบวนการพิเศษและองค์กรพิเศษ ที่จะมากำกับการแก้ปัญหา โดยจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการพิจารณากระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม อาจจะมีการสร้างบุคลากรนิติวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม และจะมีต้องหาวิธีการออกแบบกระบวนการไกลเกลี่ยทางแพ่ง หรือการยุติธรรมสมานฉันท์ในทางอาญา ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นหลังจากการมีองค์กรพิเศษเฉพาะ”ดร.สุนทรียา กล่าว
นายสุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นว่า การจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม หรือ ศาลสิ่งแวดล้อม ในเวลานี้อาจไม่ทันกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น และมองว่าการกำหนดให้อำนาจของศาลปกครอง ไปอยู่ที่ศาลยุติธรรมอาจจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคต จึงคิดว่าในการเปลี่ยนแปลงอาจจะต้องให้ผู้ที่มีความชำนาญแต่ละส่วน เช่นคดีแพ่ง ก้ให้มีเครื่องมือในการบังคับคดีแพ่งได้มีประสิทธิภาพ และคดีอาญาก็ให้ผู้ที่มีความชำนาญดำเนินการไป หากมีข้อติดขัดในกระบวนการจะเกิดการเรียนรู้และปรับแก้ แต่ถ้าเป็นการตั้งองค์กรก็อาจจะเป็นผลดีในระยะยาว แต่ก็มองเป็นเรื่องยากที่จะทำได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวทีเป็นการเปิดกว้างให้ผู้เข้าร่วมสามารถวิพากษ์ ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับได้ ทำให้บรรยากาศในเวทีวิพากษ์ร่างกฎหมายมีมุมมองที่แตกต่างจาก ทั้งนักกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมและทนายความที่ทำคดีสิ่งแวดล้อม
นายธีรศักดิ์ ชึขุนทด นายกสมาคมนักกฎหมายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม สะท้อนว่า กว่าที่ผ่านมามีกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ประกาศบังคับใช้ แต่พบว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นมาจากการไม่บังคับใช้กฎหมาย และเห็นด้วยกับการมีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม เนื่องจากคดีสิ่งแวดล้อมเป็นคดีพิเศษ เพราะเป็นผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั้งโลก จึงควรมีองค์กรเฉพาะและเป็นอิสระอย่างแท้จริง หสกยังอยู่ภายใต้ศาลยุติธรรมก็จะมีหลายฝ่าย หลายแผนก ที่ยากกับการพิจารราคดีให้ทันต่อการแก้ปัญหา
นายวิฑูรย์ เก่งงาน ทนายความ มองว่า เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม ของสำนักงานศาลยุติธรรม เพราะแต่ละฝ่ายมีการทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว การให้เครื่องมือ และมีการขยายขอบเขตในการพิจารณาคดีที่กว้างขึ้น ศาลใช้ดุลยพินิจได้กว้างขึ้น จะเป็นผลดีต่อการพิจารณาคดี ขณะที่การตั้งองค์กรใหม่ไม่เป้นผลดี เพราะกว่าจะมีการตั้งงบประมาณมาเพื่อจัดต้ององค์กรต้องใช้เวลานาน จึงน่าจะบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ได้ทันที
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะใช้ร่างกฎหมายฉบับไหน ซึ่งหลังจาก ทั้งทางสำนักงานศาลยุติธรรม จะรวบรวมความเห็นจากทุกภาคส่วนเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปรับปรุงเนื้อหา ก่อนที่รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.เพื่อเข้าสู่กระบวนการตราเป็นกฎหมายต่อไป