ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กองทุนบำเหน็จบำนาญใกล้เป็นจริง เสนอทำภาคบังคับแต่ไม่เพิ่มภาระมนุษย์เงินเดือน

เศรษฐกิจ
28 ก.พ. 59
21:52
2,053
Logo Thai PBS
กองทุนบำเหน็จบำนาญใกล้เป็นจริง เสนอทำภาคบังคับแต่ไม่เพิ่มภาระมนุษย์เงินเดือน
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ใกล้ได้ข้อสรุปเรื่องการตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติเพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา โดยมีแนวคิดทำเป็นภาคบังคับ เเต่จะไม่เพิ่มภาระให้ถูกหักเงินเดือน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สศค. เปิดเผยถึงความคืบหน้าเรื่องการตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ว่า กระทรวงการคลังมีแนวคิดดูแลสวัสดิการทุกคนได้มีโอกาสได้รับเงินบำนาญ เพื่อให้มีเงินรายเดือนในยามเกษียณเพียงพอต่อการยังชีพอย่างเท่าเทียม เช่นเดียวกับสวัสดิการของข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

ทั้งนี้ คาดว่ากองทุน กบช. จะเป็นแบบภาคบังคับครอบคลุมสำหรับพนักงานรัฐวิสาหกิจและพนักงานบริษัทขนาดใหญ่ พนักงานจะต้องนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน กบช. เช่นเดียวกับข้าราชการสมาชิก กบข. แต่จะไม่ให้มีภาระเพิ่มเติมกว่าที่เป็นอยู่

"ในเบื้องต้นคาดว่าน่าจะมีการกำหนดเงินสมทบขั้นต่ำ แต่ถ้านำส่งเงินมากขึ้นก็เป็นประโยชน์ของตัวสมาชิกเองในยามชรา เป็นเรื่องของการออมของแต่ละบุคคล" นายกฤษฎากล่าว

เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระของคนทำงาน เบื้องต้นจึงมีแนวคิดให้ลดปริมาณการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพลง เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งมานำส่งเข้า กบช. ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันพนักงานส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพร้อยละ 10 นายจ้างจะสมทบให้ร้อยละ 10 แต่หากมี กบช.ภาคบังคับ พนักงานจะลดเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพลงเหลือร้อยละ 7 และแบ่งไปสมทบใน กบช. ร้อยละ 3 โดยนายจ้างจะแบ่งสมทบในลักษณะเดียวกัน ซึ่งเป็นการสะสมเงินในระยะยาวเพื่อเก็บเงินจำนวนนี้มาจ่ายเป็นบำนาญรายเดือนเมื่อเป็นผู้สูงอายุ

คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนเตรียมสรุปหลักเกณฑ์ทั้งหมด เพื่อเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาเร็วๆ นี้ ซึ่งคาดว่าในระยะแรกจะมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและอาจมีทั้งรูปแบบภาคบังคับและสมัครใจควบคู่กันไปก่อน

ปัจจุบันสวัสดิการของคนไทยมีอยู่หลายประเภท ได้แก่ กองทุน กบข.ดูแลในส่วนของข้าราชการ ทั้งรับบำนาญรายเดือนหรือเลือกรับบำเหน็จเป็นก้อนเดียว, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับพนักงานรัฐวิสาหกิจและบริษัทจดทะเบียน โดยรับเงินบำเหน็จเมื่อเกษียณอายุ ควบคู่กับการดูแลจากกองทุนประกันสังคม และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ดูแลผู้มีอาชีพอิสระที่ไม่มีนายจ้างโดยรัฐบาลสมทบให้บางส่วน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง