ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไฟฟ้าขัดข้อง-ผู้โดยสารติดค้าง: สะท้อนปัญหาการจัดการภายใน "แอร์พอร์ต เรล ลิงก์"

สังคม
21 มี.ค. 59
21:01
446
Logo Thai PBS
 ไฟฟ้าขัดข้อง-ผู้โดยสารติดค้าง: สะท้อนปัญหาการจัดการภายใน "แอร์พอร์ต เรล ลิงก์"
เหตุการณ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ขัดข้องจากกระแสไฟฟ้าตก ทำให้ผู้โดยสารกว่า 700 คนติดค้างอยู่กลางทางและต้องหาทางออกมาจากขบวนรถอย่างทุลักทุเล จนหลายคนเป็นลมและต้องนำส่งโรงพยาบาล สะท้อนถึงปัญหาในการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินและมาตรฐานการบำรุงรักษารถไฟฟ้า

จากข้อมูลของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ปัญหาในการเดินรถเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 07.50 น.วันนี้ (21 มี.ค.2559) เนื่องจากระบบจ่ายไฟที่สถานีรามคำแหงเกิดขัดข้องและมีรถไฟฟ้าหนึ่งขบวนติดค้างอยู่ระหว่างสถานีหัวหมากและสถานีรามคำแหง ฝั่งไปพญาไท โดยมีผู้โดยสารอยู่ในขบวนรถดังกล่าวประมาณ 700 คน

พล.อ.ดรัน ยุทธวงษ์สุข กรรมการและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รฟฟท. ยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากระบบสำรองไฟที่ใช้งานมานานเสื่อมสภาพ ไม่พร้อมใช้งาน ทั้งที่ตามหลักการแล้ว รถไฟฟ้าจะต้องมีระบบสำรองไฟในการเดินรถเพื่อพาผู้โดยสารไปถึงสถานี แต่ขณะนี้การติดตั้งระบบดังกล่าวอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจัดซื้อจากการรถไฟแห่งประเทศไทยที่เป็นองค์กรกำกับดูแล รฟฟท.

"สถานีรถไฟฟ้าทุกสถานีจะมีระบบสำรองไฟ แต่ว่าระบบที่เราใช้อยู่ปัจจุบันนี้มีอายุการใช้งาน 5 ปีแล้ว ทำให้ระบบสำรองไฟเสื่อม เรากำลังขออนุมัติการรถไฟฯ เพื่อจัดซื้อระบบสำรองไฟใหม่ อยู่ระหว่างการรออนุมัติจากการรถไฟฯ เมื่อการรถไฟอนุมัติแล้วเราก็จะได้ดำเนินการ" พล.อ.ดรันระบุ พร้อมกับเปิดเผยว่า รฟฟท.ได้ขออนุมัติจัดซื้อระบบสำรองไฟไปประมาณ 1-2 เดือนแล้ว

ขณะที่นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟฯ ยืนยันว่าการจัดซื้อจัดจ้างระบบไฟฟ้าสำรองไม่ได้ล่าช้า แต่ รฟฟท.ขออนุมัติจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษเร่งด่วนเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2559 ด้วยวงเงินสูงถึง 32 ล้านบาท ซึ่งเกินอำนาจผู้ว่าการรถไฟฯ และต้องให้คณะกรรมการรถไฟพิจารณา จึงให้แอร์พอร์ตลิงก์แก้ไขเอกสารให้เป็นไปตามระเบียบด้านการจัดซื้อจัดจ้าง แต่จนถึงขณะนี้การรถไฟฯ ยังไม่ได้เอกสารที่ครบถ้วนจาก รฟฟท.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการประทรวงคมนาคมระบุว่า ได้สั่งการให้บอร์ดการรถไฟฯ พิจารณาการจัดซื้อระบบไฟสำรองใหม่ในการประชุมวันที่ 29 มี.ค.2559 เเละยอมรับว่า การจัดสรรงบประมาณจากการรถไฟฯ ให้ รฟฟท.ในฐานะบริษัทลูกนั้นมีความล่าช้าซึ่งอาจเป็นปัญหาการบริหาร ส่วนแผนรับมือเหตุฉุกเฉินนั้นได้สั่งการให้จัดทำมานานกว่า 1 เดือนแล้ว หลังเกิดเหตุการณ์รถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้อง

"จริงๆ แล้ว รฟฟท.เป็นบริษัทที่การรถไฟฯ ถือหุ้น 100 เปอร์เซนต์ เพราะฉะนั้นในเรื่องของงบประมาณนั้นก็ยังผูกกับการรถไฟฯ ซึ่งได้พูดคุยกับการรถไฟฯ ไปแล้วว่า แม้ว่าการรถไฟฯ จะต้องเป็นฝ่ายจัดเงินงบประมาณให้บริษัทลูก คือ รฟฟท. แต่ในเรื่องของระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างควรจะต้องแยกไปให้ทาง รฟฟท.ดำเนินการเอง ซึ่งจะทำให้เกิดความคล่องตัวมากกว่า ไม่เช่นนั้นการรถไฟฯ จะต้องทำหน้าที่ทั้งจัดเตรียมงบประมาณ อนุมัติงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้างด้วย ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ไม่ต้องมีบริษัทลูกเลยดีกว่า เพราะบริษัทแม่ทำเองหมด" นายอาคมกล่าว

สอดคล้องกับความเห็นของสุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการอาวุโสจากทีดีอาร์ไอที่ระบุว่า 2-3ปี มานี้ืไม่เห็นการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดการที่ดีขึ้นของเเอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ผู้ให้บริการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ไม่มีแผนการเเก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และมีการโยนความผิดไปมาระหว่างบริษัทแม่คือ การรถไฟฯ และบริษัทลูกคือ รฟฟท.

"เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ทุกอย่างต้องทำภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ คุณไม่สามารถปล่อยให้ผู้โดยสารเปิดประตูออกมาเดินบนรางรถไฟอย่างที่เกิดขึ้นได้ เจ้าหน้าที่ต้องมีแผนเผชิญเหตุ มีแผนกำหนดชัดเจนว่าต้องทำอย่างไร เมื่อรถไฟขัดข้องไม่สามารถเคลื่อนต่อไปได้ภายในเวล่าเท่าไหร่ ต้องทำอย่างไร จะเคลื่อนย้ายผู้โดยสารอย่างไร เจ้าหน้าที่รอตรงจุดไหน เท่าที่ทราบหลังเกิดเหตุการณ์ก็มีเจ้าหน้าที่ไปช่วยเหลือ แต่ช้ามาก" นายสุเมธตั้งข้อสังเกต

นายสุเมธระบุว่า หากให้เอกชนรับสัมปทานจะช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารซึ่งจะช่วยให้มีความคล่องตัวในการบำรุงรักษา และการอนุมัติงบประมาณมากกว่า

ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างผู้ใช้บริการ ระบุว่า อาจต้องพิจารณาการใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ใหม่ เพราะที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์รถไฟฟ้ามาช้าและระบบขัดข้องบ่อยครั้ง จนมีผลต่อความมั่นใจในการใช้บริการ

ปัจจุบันแอร์พอร์ตลิงค์มีขบวนรถไฟฟ้าทั้งหมด 9 ขบวน วิ่งด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ปัจจุบันวิ่งได้เพียง 7 ขบวนเท่านั้น ส่วนอีก 2 ขบวนอยู่ระหว่างการซ่อมแซม ซึ่งที่ผ่านมามีแผนการจัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์เพิ่มอีก 7 ขบวน แต่ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติ เนื่องจากมีข้อร้องเรียนเรื่องล็อกสเป็ก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง