ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจี้เอาผิด ธนาคารบังคับซื้อประกันพ่วงบัตรเดบิต

สังคม
21 เม.ย. 59
07:52
1,882
Logo Thai PBS
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจี้เอาผิด ธนาคารบังคับซื้อประกันพ่วงบัตรเดบิต
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้ธนาคารพาณิชย์ไม่มีสิทธิ์ขายประกันพ่วงบัตรเดบิต เตรียมขับเคลื่อนร่วมคณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนกดดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดบทลงโทษและเอาผิดธนาคารพาณิชย์ที่บังคับขายประกันร่วมกับผลิตภัณฑ์ของธนาคาร

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ถึงกรณีที่มีผู้บริโภคร้องเรียนว่าธนาคารพาณิชย์บางแห่งขายประกันพ่วงกับผลิตภัณฑ์ของธนาคาร โดยเฉพาะการทำบัตรกดเงินประเภทเดบิตพ่วงมากับประกันอุบัติเหตุ ที่ต้องเสียค่าเปิดบัตรและค่าธรรมเนียมรายปีสูงกว่าบัตรเอทีเอ็มธรรมดาว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เป็นนายหน้าขายประกันชีวิตได้ตั้งแต่ปี 2551 แต่หลังจากมีประชาชนร้องเรียนเรื่องการถูกบังคับขายประกันพ่วงกับผลิตภัณฑ์ของธนาคาร ทำให้ ธปท.ออกแนวนโยบายเรื่องการกำกับดูแลการขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2556

แนวนโยบายฉบับนี้ระบุว่า ห้ามธนาคารพาณิชย์บังคับขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยควบคู่กับผลิตภัณฑ์ของธนาคารพาณิชย์ หรือกำหนดเป็นเงื่อนไขในการขายหรือให้บริการผลิตภัณฑ์หลัก ธนาคารต้องให้สิทธิ์แก่ผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคปฏิเสธการซื้อผลิตภัณฑ์ได้ 

ดาวน์โหลดไฟล์

ดาวน์โหลดไฟล์

ดาวน์โหลดไฟล์

ดาวน์โหลดไฟล์

แนวนโยบายเรื่องการกำกับดูแลการขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์

แม้ ธปท.จะมีแนวนโยบายดังกล่าว แต่ปรากฏว่ายังมีธนาคารพาณิชย์บางแห่งพ่วงขายประกันกับผลิตภัณฑ์ของธนาคาร เห็นได้จากการที่มีผู้บริโภคร้องเรียนมาที่มูลนิธิฯ ธปท. และผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะการพ่วงขายประกันผ่านการสมัครบัตรเดบิต โดยที่ผู้บริโภคหลายคนไม่รู้จนกระทั่งธนาคารฯ ส่งกรมธรรม์มาที่บ้าน ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีแนวทางการจัดการหรือบทลงโทษที่ชัดเจน

นางนฤมลกล่าว่า การขายประกันพ่วงในลักษณะนี้ ทำให้ผู้บริโภคต้องเสียค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มต่อปีเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น เช่น ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มธรรมดาปีแรกอยู่ที่ประมาณ 250 บาท ปีถัดไปไม่เกิน 200 บาท ขณะที่บัตรเดบิตพ่วงประกันที่มีค่าธรรมเนียมตั้งแต่ 300 บาทจนถึงเกือบ 1,000 บาท ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วจะพบว่าเงินที่ผู้บริโภคต้องจ่ายนั้นเป็นค่าบริการบัตรเอทีเอ็มและค่าธรรมเนียมที่เกิดจากการใช้บัตรจริงๆ เพียงเล็กน้อย ส่วนที่เหลือเป็นเบี้ยประกันทั้งสิ้น ที่สำคัญ คือ ประกันภัยที่พ่วงมากับบัตรเดบิตนั้นยังไม่มีตัวกรมธรรม์ชี้แจงรายละเอียดให้ผู้บริโภคทราบเกี่ยวกับการครอบคลุมการรักษา หรือการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน นอกจากนี้ผู้บริโภคบางรายยังร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ธนาคารไม่ได้อธิบายรายละเอียดเหล่านี้ให้ลูกค้าฟัง เมื่อถึงคราวต้องใช้สิทธิ์ก็ไม่สามารถเคลมประกันได้ เช่น คนที่ใช้สิทธิประกันสังคมอยู่แล้วจะใช้สิทธิ์เบิกประกันจากบัตรเดบิตซ้ำซ้อนไม่ได้ นั่นเท่ากับผู้บริโภคต้องเสียเงินแบบสูญเปล่า

"เงินที่เสียเพิ่มต่อปีอาจอยู่แค่หลักไม่กี่ร้อยบาท แต่ถ้านำไปคูณกับฐานจำนวนผู้บริโภคที่มีอยู่ จะเห็นว่าเม็ดเงินที่เสียไปโดยไม่คุ้มค่ากับประโยชน์ที่ได้นั้นถือว่าค่อนข้างเยอะ" นางนฤมลระบุ

นางนฤมลกล่าวว่า เบื้องต้น ในวันที่ 28 เม.ย.2559 มูลนิธิฯ จะหารือกับอนุกรรมการของคณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนในเพื่อวางแนวทางการเคลื่อนไหวให้ ธปท.และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องออกบทลงโทษที่ชัดเจนต่อกรณีธนาคารพาณิชย์กึ่งบังคับขายประกันพ่วงการเปิดบัตรเดบิต และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของธนาคาร เช่น เพิกถอนใบอนุญาตสาขาของธนาคารที่บ่ายเบี่ยงไม่ให้บัตรเอทีเอ็มธรรมดาแก่ลูกค้าและบีบให้ใช้บัตรเดบิตพ่วงประกัน เป็นต้น นอกจากนี้มูลนิธิฯ จะพยายามให้ทางธนาคารพาณิชย์ชี้แจงถึงต้นทุนที่แท้จริงของบัตรกดเงินแต่ละประเภท เพื่อป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างที่แล้วมา 

"แนะนำผู้บริโภคที่กำลังไปเปิดบัญชีธนาคารและต้องทำบัตรกดเงิน ว่าทุกคนมีสิทธิ์ปฏิเสธไม่เอาบัตรเดบิตที่พ่วงขายประกัน หากเจ้าหน้าที่ธนาคารอ้างว่าไม่มีบัตรเอทีเอ็มธรรมดาหรือบัตรหมดต้องรออีกนาน และไม่ยอมทำให้ ของให้ร้องเรียนไปที่ ธปท. หรือร้องเรียนมาที่มูลนิธิฯ ซึ่งทางมูลนิธิฯ กำลังเก็บสถิติและจะนำไปเป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา" นางนฤมลกล่าว

นอกจากนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับกรณีที่ธนาคารพาณิชย์จะนำบัตรกดเงินที่มีชิปการ์ดฝังอยู่ในตัวบัตรมาใช้ว่ามีความเสี่ยงพอสมควร เนื่องจากในชิปการ์ดจะฝังข้อมูลส่วนตัว รวมถึงบันทึกข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินไว้เกือบทุกอย่าง หากไม่มีระบบป้องกันที่ดีพอจะทำให้เกิดเหตุอาชญากรรมแก่ผู้บริโภคได้ง่าย อีกทั้งข้อมูลที่บรรจุอยู่อาจทำให้ผู้บริโภคเสียสิทธิต่างๆ เช่น การจ่ายเงินไปกับการรักษาพยาบาลบ่อยๆ อาจทำให้เสียสิทธิในการทำประกันสุขภาพ เป็นต้น


"ฉลาดซื้อ" แนะวิธีรับมือกับธนาคารขายประกันพ่วงบัตรเครดิต

เว็บไซต์นิตยสาร ฉลาดซื้อ ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ให้คำแนะนำผู้บริโภคในการรับมือกับการที่ธนาคารมักเสนอบัตรเอทีเอ็มแบบที่มีลักษณะเป็นบัตรเดบิตไปด้วย หรือไม่ก็เสนอบัตรที่มีการทำประกันภัยไปด้วย ทำให้ค่าธรรมเนียมในการทำบัตรพุ่งพรวดไปหลายร้อยบาท ดังนี้

  • ถ้าต้องการทำบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาจริงๆ ขอให้ยืนยันกับทางพนักงานว่าต้องการทำบัตรเอทีเอ็มธรรมดาเท่านั้น ซึ่งค่าธรรมเนียมจะไม่เกิน 300 บาท เว้นธนาคารไทยพาณิชย์ 350 บาท
  • ระวังพนักงานเล่นกลกับท่าน กรณีที่บัตรเอทีเอ็มธรรมดาของธนาคารอาจมีหลายประเภท ท่านอาจได้ประเภทที่ค่าธรรมเนียมสูงแทนบัตรธรรมดาที่ค่าธรรมเนียมต่ำ หรือได้เป็นบัตรเดบิตมาแบบงงๆ เพราะค่าธรรมเนียมเท่ากั
  • โปรดเลือกบริการโดยคำนึงถึงความเสี่ยง ด้วยค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มกับบัตรเดบิต อาจไม่ได้มีราคาต่างกัน ท่านจึงอาจเลือกบัตรเดบิตเพื่อความสะดวก แต่การเลือกใช้บัตรเดบิตต้องคำนึงเรื่องความปลอดภัย เพราะบัตรเดบิตสามารถนำไปรูดซื้อสินค้าได้เช่นเดียวกับบัตรเครดิต เพียงแต่ไม่เกินยอดเงินในบัญชี ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงสูงในการสุญเงิน หากท่านทำบัตรสูญหายหรือถูกขโมยไปใช้ เพราะผู้ไม่หวังดีต่อท่านจะสามารถรูดซื้อสินค้าได้ง่ายๆ เพียงแค่ปลอมลายมือชื่อของท่านเวลาซื้อของเท่านั้น(ร้านค้าส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้พิจารณาเรื่องลายมือชื่อสักเท่าไร) ดังนั้นท่านอาจสูญเงินทั้งหมดในบัญชีไปได้ง่ายๆ
  • ถ้าพบปัญหาว่าไม่สามารถทำบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาๆ ได้ เพราะการอ้างเรื่องบัตรหมด ท่านควรทำหนังสือร้องเรียนต่อธนาคารดังกล่าว โดยการส่งจดหมายถึงธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานใหญ่ของธนาคารนั้น เพื่อให้เกิดการปรับปรุงการให้บริการ ถ้าจะไม่มีบัตรแบบธรรมดาแล้ว ก็ควรประกาศยกเลิกไปอย่างเป็นทางการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง