โดยวิเคราะห์ส่งห้องปฏิบัติการต่างประเทศ พบสารตกค้างกว่า 450 ชนิดถึงร้อยละ 46 จนเกิดคำถามจากหน่วยงานราชการว่า การตรวจดังกล่าวเป็นไปตามเกณฑ์และมีจำนวนมากพอหรือไม่นั้น
วันนี้ (19 พ.ค.) ที่มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน น.ส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทนโครงการกินเปลี่ยนโลก หนึ่งในไทยแพน แถลงข่าว “ยื่นฟ้องศาลปกครองหลังกรณีปัญหาตรวจพบผักผลไม้ปนเปื้อน” ว่า จากการตรวจสอบ สารเคมีตกค้างในผักและผลไม้มาตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่าน ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยในอาหารให้สังคมได้รับรู้ หลายหน่วยงาน รวมทั้งตำรวจแนะนำว่า ควรกล่าวโทษร้องทุกข์ เพื่อหาคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย แต่ตนเห็นว่าไม่ควรจะแก้ไขปัญหาเป็นรายกรณีๆ แบบนี้ แต่เป็นปัญหาในเชิงระบบ อย่างน้อยให้สารเคมีอันตรายหมดไปจากอาหารบริโภคน่าจะดีกว่า
“ล่าสุดจากผลสำรวจที่ผ่านมา รู้สึกผิดหวังกับท่าทีของหัวหน้าหน่วยงานราชการที่กล่าวหาเครือข่ายฯ ว่า ตรวจผักผลไม้ตามเทศกาล เพื่อสร้างกระแสหวังรับเงินจากต่างชาติ แต่คงไม่ฟ้องร้องหมิ่นประมาทใดๆ กลับ เพราะคิดว่าไม่เป็นประโยชน์กับใคร แต่เลือกวิธีการฟ้องศาลปกครอง ให้สามารถนำสืบเพื่อหาช่องโหว่ และความไร้ประสิทธิภาพของระบบว่า อยู่ที่ตรงไหน จะเป็นประโยชน์มากกว่า”น.ส.กิ่งกรกล่าว
ด้าน น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานไทยแพน ระบุว่า ไทยแพนได้รับความคืบหน้าจากห้างร้านต่างๆ ว่า มีการตรวจสอบย้อนกลับไปยังแปลง และบางห้างทราบแล้วว่า ปัญหาอยู่ที่ตรงไหน ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ไทยแพนพบสารเคมีเกินค่ามาตรฐาน ตกค้างในสินค้าที่แสดงเครื่องหมายคิว มาโดยตลอด ซึ่งหน่วยงานควบคุมตรงนี้ควรมีมาตรการที่ชัดเจน ขณะนี้ไทยแพนเตรียมคำฟ้องต่อศาลปกครอง โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรและเครือข่ายผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ และนักกฎหมายอิสระที่ประสงค์จะสร้างบรรทัดฐานการทำงานเกี่ยวกับความปลอดภัยในอาหารของหน่วยงานราชการ ทั้งนี้โดยคาดว่าจะสามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองภายในเดือนพ.ค.นี้