ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วงการมวยยังเห็นต่าง ยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมความปลอดภัยในการกีฬา แก้ปัญหานักมวยเด็ก

กีฬา
14 มิ.ย. 59
20:12
413
Logo Thai PBS
วงการมวยยังเห็นต่าง ยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมความปลอดภัยในการกีฬา แก้ปัญหานักมวยเด็ก
ผลวิจัยด้านสมองของนักมวยเด็ก ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในการเสวนาในการเตรียมยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมความปลอดภัยในการกีฬาและนันทนาการสำหรับเด็กและเยาวชน แต่คนในวงการมวยยังเห็นต่าง ซึ่งอาจจะต้องมีการพูดคุยกันอีกเพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของผลวิจัย

ผลวิจัยด้านสมองของนักมวยเด็ก ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในการเสวนาในการเตรียมยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมความปลอดภัยในการกีฬาและนันทนาการสำหรับเด็กและเยาวชน แต่คนในวงการมวยยังเห็นต่าง ซึ่งอาจจะต้องมีการพูดคุยกันอีกเพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของผลวิจัย

จิตยา ศรีพันธบุตร นักชกเจ้าของเหรียญทองมวยสากลสมัครเล่น กีฬาแห่งชาติสุพรรณบุรีเกมส์ อายุ 15 ปี ซึ่งเริ่มชกมวยไทยได้ 1 ปีก่อนจะเบนเข็มมาชกมวยสากล ภายใต้การดูแลของค่ายมวยศิษย์ครูพง

"ตอนนี้ไม่มีผลกระทบเพราะว่าใส่เฮดการ์ด ซึ่งป้องกันศีรษะจากการกระทบกระเทือนได้ แต่ตอนชกมวยไทยไม่ได้คิดอะไรแต่ก็ไม่ได้เป็นอะไรมาก" จิตยา กล่าว


จิตยา เริ่มชกมวยในขณะที่อายุไม่น้อยเกินไป เมื่อเทียบกับเด็กคนอื่นๆซึ่งข้อมูลจากคณะกรรมการกีฬามวยเผยว่าปัจจุบันมีเด็กที่อายุ 2-3 ปีเริ่มชกมวยกันแล้ว เช่นเดียวกับค่ายมวยแห่งนี้ซึ่งนักมวยเด็กที่อายุประมาณ 10 ปีต่างขึ้นสังเวียนมาแล้วหลายไฟต์

ส่วนผลวิจัยของศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้าคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักมวยเด็กเปรียบเทียบกับเด็กทั่วไป พบว่าสมองของเด็กที่ชกมวยได้รับความเสียหายของใยประสาท ภายในสมองมีช่องว่างให้น้ำวิ่งไปมามากขึ้น ซึ่งจะเป็นเหตุให้สมองฝ่อในอนาคต นอกจากนั้นยังพบว่ามีธาตุเหล็กสะสมในสมองมากขึ้น อันเป็นผลพวงจากอาการเลือดออกในสมอง รวมถึงมีความจำลดลง

ผลวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลเพื่อสนับสนุนการยกร่าง พ.ร.บ ซึ่งหากสามารถกำหนดกติการขึ้นมาใหม่ หรือมีมาตรการด้านสิทธิมนุษยชนเข้ามาควบคุมให้เข้มข้นขึ้นจะเป็นการยกระดับการพัฒนามวยเด็กให้มีคุณภาพ และป้องกันไม่ให้เด็กเกิดอันตราย

"ถ้าเด็กเหล่านี้เติบโตต่อไปในอนาคตและเป็นนักมวยอาชีพ หรือไปเป็นเทรนเนอร์ก็เป็นอาชีพ แต่ถ้าหากไม่เก่งพอและกลับมาใช้ชีวิตในสังคมปกติซึ่งคาดว่าจะมีอยู่ราวร้อยละ 50 ก็คิดว่าเราจะมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ไอคิวต่ำ สมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ ควบคุมความจำสูญเสีย สมองเกี่ยวกับการตัดสินใจถึงระดับที่เป็นเหตุเป็นผลก็มีความเสียหาย แต่มีความสามารถในการชกต่อยสูงมาก ซึ่งก็ต้องถามต่อไปว่าอนาคตของเยาวชนเราจะเป็นอย่างไร" ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ หัวหน้าศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้า ระบุ

แต่ที่น่าสนใจคือมาตรการใดจะเหมาะสมที่สุด โดยไม่เกิดความขัดแย้งระหว่างคนในวงการมวยซึ่งขณะนี้มีจำนวนกว่า 40,000 คนที่ขึ้นทะเบียนภายใต้ พ.ร.บ.มวยอาชีพ และกลุ่มนักวิจัย เพราะเนื้อหาบางประเด็นยังขัดแย้งกัน โดยมีการเสนอให้กำหนดอายุนักมวยอย่างน้อย 18 ปี ซึ่งยังขัดแย้งกับ พ.ร.บ.มวยอาชีพ ที่ไม่ได้มีการกำหนดอายุในการชก

ทั้งนี้นักวิจัยมองว่าการกำหนดอายุจะช่วยคัดกรองความเสี่ยงทางสมองได้เพราะปัญหาของมวยเด็กส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ใหญ่เป็นคนผลักดันเด็กให้ชกมวยโดยที่เด็กยังไม่มีวุฒิภาวะในการตัดสินใจเลือกอาชีพของตัวเอง แต่คนในวงการมวยสะท้อนว่า พ.ร.บ.กีฬามวยอาชีพ 2542 มีการควบคุม และคุ้มครองผู้ที่ประกอบอาชีพนี้อยู่แล้ว นอกจากนั้นผู้เดินเข้ามาในสังเวียนการแข่งขันส่วนหนึ่งเลือกแล้วที่จะชกมวยเพื่อเลี้ยงชีพเพราะปัญหาความยากจน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง