วันนี้ (6 ก.ค.2559) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ในการชี้แจงทิศทางแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะที่ 3 ระหว่างปี 2560-2564 เป็นการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการทุจริตในระยะ 5 ปีข้างหน้าให้เป็นรูปธรรมและมีมติใหม่ พร้อมสร้างการรับรู้และทัศนคติ สร้างวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต และคาดหวังให้ดัชนีการรับรู้เรื่องการทุจริตสากล หรือ CPI จากเดิมร้อยละ 38 ต้องได้ร้อยละ 50 ที่จะสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทย ที่จะส่งผลต่อการแข่งขันทั้งเศรษฐกิจ การค้า ให้ประเทศน่าอยู่ ส่วนที่รัฐบาลเพิ่มเจ้าหน้าที่ให้ สำนักงาน ป.ป.ช.อีก 800 ตำแหน่ง จะส่งผลให้การดำเนินการพิจารณาคดีของ ป.ป.ช.รวดเร็วขึ้น
ส่วนการพิจารณาไต่สวนดคีจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที200 ประธาน ป.ป.ช.ระบุว่า อยู่ระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ยืนยันว่ามีข้อมูลหลักฐานที่ครบถ้วน และอยู่ระหว่างการสืบซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้ และส่งเรื่องมายัง กรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาสำนวนได้
ขณะที่ความคืบหน้าพิจารณาถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พล.ต.อ.วัชรพล ระบุว่า ยังไม่ได้รับเรื่องจากคณะทำงาน ซึ่งหากทราบเรื่องก็จะพิจารณาเนื้อหาว่ามีความเร่งด่วนเพียงใด แต่ขณะเดียวกันนี้อยู่ในการพิจารณาไต่สวนของศาลฎีกาแล้ว ซึ่งพยานหลักฐานใหม่ของผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยในคดีใหม่ จะมีส่วนทำให้กรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาตามกฎหมายได้อย่างไรก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ และกระบวนการดำเนินไปไกลแล้ว ในเรื่องความเหมาะสมก็ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญ เมื่อได้รับข้อมูลครบถ้วนก็สามารถพิจารณาได้ โดยประธาน ป.ป.ช.ไม่ได้ตอบชัดเจนว่าจะสามารถนำเข้าบรรจุวาระการประชุมในสัปดาห์หน้าหรือไม่
และกรณีที่มีการยื่นให้ตรวจสอบกรณีนายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขนคนมาชุมนุม ที่มีรายงานว่าเรื่องนี้มีข้าราชการระดับสูง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดเกี่ยวข้องด้วย พล.ต.อ.วัชรพล ระบุว่า มีการยืนเรื่องดังกล่าวต่อเลขาฯป.ป.ช. ซึ่งต้องตรวจสอบข้อมูลก่อน และเลขาฯมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงไว้ก่อนและส่งข้อมูลแสวงหาได้ และหากมีมูลเพียงพอจะตั้งไต่สวน ก็จะส่งป.ป.ช. แต่ขณะนี้เรื่องนี้ยังอยู่ที่สำนักเลขาฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นก่อน ซึ่ง พล.ต.อ.วัชรพล ระบุด้วยว่ายังไม่เห็นเรื่อง
ส่วนประเด็นที่อาจมีข้อมูลการเชื่อมโยงไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 12 จังหวัดตามที่มีการร้องเรียนนั้นจะต้องดำเนินการไต่สวนด้วยหรือไม่นั้น ประธาน ป.ป.ช.ระบุว่า ขึ้นอยู่กับการแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่าเป็นอย่างไร เข้าเงื่อนไขของกฎหมายที่ป.ป.ช.รับผิดชอบหรือไม่ โดยมีกรอบการดำเนินการอยู่แล้ว