นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายมุสลิม จ.ปัตตานี ทนายของนักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คน เปิดเผยภายหลังเข้าพบพนักงานสอบสวนว่า ผู้ต้องหาทั้ง 3 คน ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและหลังจากนี้จะทำให้คำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรส่งให้พนักงานสอบสวนเพิ่มเติม
ก่อนเข้าพบพนักงานสอบสวน มีนักกิจกรรมภาคประชาสังคมและผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลุ่มหนึ่งมาให้กำลังใจนักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คน ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยยุติการดำเนินคดีนักสิทธิมนุษยชน
นายสมชายเป็นอดีตประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและเป็นนักสิทธิมนุษยชนอาวุโสที่ทำงานมายาวนาน น.ส.พรเพ็ญเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ส่วน น.ส.อัญชนา ประกอบกิจการส่วนตัวควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมเพื่อสังคมในนามของ "กลุ่มด้วยใจ" ที่เธอก่อตั้งขึ้น ซึ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังในคดีความมั่นคง
อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายมุสลิม จ.ปัตตานี
ซาลิล เช็ตตี้ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยว่า ในช่วงเวลาที่รัฐบาลไทยสัญญาจะประกาศใช้กฎหมายต่อต้านการทรมาน แต่นับเป็นความขัดแย้งที่พวกเขากลับคุกคามนักกิจกรรมที่พยายามเปิดโปงการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
"ข้อกล่าวหาต่อบุคคลทั้งสามเป็นความพยายามครั้งล่าสุดของการข่มขู่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการละเมิดอย่างชัดเจนต่อพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยที่จะต้องคุ้มครองสิทธิของพวกเขา" แถลงการณ์แอมเนสตี้ฯ ระบุ
ด้านนายคิงสลีย์ แอ๊บบอต จาก International Commission of Jurists เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดีกับบุคคลที่ทำงานเพื่อต่อต้านการซ้อมทรมาน เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลตั้งใจจริงในการขจัดการซ้อมทรมานในประเทศไทย
นายสมชาย หอมลออ กล่าวขอบคุณผู้มาให้กำลังใจและหลายองค์กรที่ออกแถลงการณ์ขอให้เจ้าหน้าที่ยุติการดำเนินคดีพร้อมกับยืนยันว่า การจัดทำรายงานดังกล่าวเป็นการทำหน้าที่ในฐานะองค์กรสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นการช่วยแก้ปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยทางหนึ่ง
ก่อนหน้านี้ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ให้สัมภาษณ์ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" โดยยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ไม่มีการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวมาซักถาม เพราะไม่มีประโยชน์อะไรที่จะทำเช่นนั้น
"เคยมีคนที่ถูกเจ้าหน้าที่เชิญไปซักถามบอกว่าถูกซ้อมถูกบังคับ ทั้งที่จริงๆ แล้วเจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องไปบีบบังคับใครในกระบวนการซักถาม เพราะเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ผู้ต้องหาก็มีสิทธิที่จะกลับคำให้การได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นซ้อมไปก็ไม่มีประโยชน์ เป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่จะไปซ้อมหรือบีบบังคับผู้ต้องหา" พ.อ.วินธัยระบุ
ในส่วนของการดำเนินคดีกับนักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คนนั้น พ.อ.วินธัยระบุว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐจำเป็นต้องปกป้องชื่อเสียงของตัวเอง เพราะเจ้าหน้าที่ก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่ไม่สมควรถูกกล่าวหาลอยๆ อีกทั้งความไว้เนื้อเชื่อใจเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นถือเป็นต้นทุนสำคัญของเจ้าหน้าที่ในการทำงานที่จังหวัดชายแดนภาคใต้