วันนี้ (19 ส.ค.2559) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติว่า รัฐบาลถือว่าการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันเป็น “วาระแห่งชาติ” การดำเนินการทุกอย่างจึงต้องมิใช่เป็นเพียงแนวนโนบายหรือเป็นแผ่นในกระดาษ แต่ต้องลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังเป็นรูปธรรมในทุกระดับและต้องมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก 3 ปีที่ผ่านมา (2556–2558) พบปัญหาการทุจริตที่สร้างความเสียหายให้หน่วยงานรัฐ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มากกว่า 200 เรื่อง คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 5 แสนล้านบาท
โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ 258 คน ดำเนินการทางวินัยของต้นสังกัดแล้วเสร็จ 62 คน มีผลทางวินัยไล่ออก 8 คน พ้นจากตำแหน่ง 25 คน ที่เหลืออยู่ระหว่างการตรวจสอบหน่วยงานด้านปราบปรามทุจริต
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หลังการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) จึงเห็นชอบให้เพิ่มอำนาจหน้าที่ของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.)ซึ่งนับเป็นกลไกใหม่ที่ทุกกระทรวงต้องประสานงาน เร่งรัด กำกับ และติดตาม ให้รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนในกำกับของกระทรวง ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ รวมทั้งติดตามประเมินผลการดำเนินงาน โดยต้องทำงานประสานสอดคล้องกับศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ป.ป.ช. ป.ป.ท. สตง.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“วันนี้รัฐบาลนี้ทำให้สถานการณ์การทุจริตลดลงอย่างชัดเจน ตามผลสำรวจของหน่วยงาน ต่างๆ โดยผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน หรือ CPI ตั้งแต่ปี 2556–2558 เกือบ 180 ประเทศทั่วโลก อันดับของประเทศไทยดีขึ้นทุกปี โดยในปี 2556 ก่อนที่รัฐบาลชุดนี้และ คสช.จะเข้ามาบริหารประเทศ ไทยอยู่ในอันดับที่ 102 ปัจจุบันอยู่อันดับที่ 76 ซึ่งดีขึ้นเกือบ 30 อันดับ ซึ่งเป้าหมายสำคัญในการปราบปรามการทุจริตของรัฐบาลคือ คนโกงรายเก่าจะต้องหมดไป คนโกงรายใหม่ต้องไม่เกิด และไม่เปิดโอกาสให้มีการโกงในทุกวงการ เพราะฉะนั้นต้องทำงานเชิงรุกและป้องกันตั้งแต่ต้นทาง” นายกฯ ระบุ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่ออีกว่า เรื่องการปราบปรามคอร์รัปชัน มีความห่วงใยเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ที่บางทีไม่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่ได้รู้เห็นกับการทุจริต แต่ต้องทำงานตามนโยบาย ตามคำสั่ง ไม่กล้าปฏิเสธ เนื่องจากเป็นผู้น้อยหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงสั่งการในที่ประชุม คตช.ให้พิจารณาหากลไกที่เหมาะสมในการให้ความเป็นธรรม แก่เจ้าหน้าที่ระดับล่าง
อย่างไรก็ดี พล.อ.ประยุทธ์ เห็นว่า การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศไทย ต้องพิจารณาอย่างเป็นระบบ และครบวงจร โดย
1.ฝ่ายที่จ้องกระทำผิด มักสรรหาเครื่องมืออุปกรณ์สมัยใหม่ที่มีราคาสูง ฝ่ายปราบปรามจึงต้องปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ก็จำกัดด้วยงบประมาณ ดังนั้น กลไกที่มีศักยภาพคือประชาชนทุกคนที่เป็นเจ้าของประเทศ ต้องเป็นหูเป็นตาร่วมมือกัน
2.การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่สมดุลกับความเจริญทางสังคม เกิดเป็นสังคมบริโภคนิยม-วัตถุนิยม เต็มไปด้วยการแย่งชิงทรัพยากร เป็นโลกแห่งการแข่งขันเสรีตามหลักการประชาธิปไตยสากล-ตะวันตก ดังนั้น ต่อไปการแก้ปัญหาต้องเริ่มจากจิตสำนึกของแต่ละคน ต้องปลูกฝังค่านิยม คุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาล แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเกิดจากใจคน การร่วมใจของคนในองค์กร
“หลายคนต้องการให้ใช้กฎหมายอย่างรุนแรง บางทีใช้กฎหมายอย่างเดียวก็ไม่สำเร็จ เพราะเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ทำ บางคนทุจริตเพราะคิดว่าจำเป็น เป็นหน้าตาในสังคม เป็นความต้องการของครอบครัว บางคนทุจริต เพราะความไม่รู้จักพอเพียง รวยแล้วรวยอีก โดยอ้างความจำเป็นในการเลี้ยงตนเอง หรือครอบครัว บางคนทุจริตด้วยเจตนาไม่รู้จักเพียงพอ ฉะนั้น ต้องไปพิจารณาว่าจะมีมาตรการอย่างไรให้เหมาะสม และตอบโจทย์เหล่านี้ได้” นายกฯ กล่าว