วันนี้ (22 ก.ย.2559) กระทรวงวัฒนธรรมเรียกประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อหารือเกี่ยวกับกรณีปัญหาร้องเรียนมิวสิควิดีโอ "เที่ยวไทยมีเฮ" ที่มีการใช้ทศกัณฐ์เป็นตัวละคร ซึ่งในที่ประชุมมีการแสดงความคิดเห็นว่า การนำทศกัณฐ์มาเป็นตัวละครในมิวสิควิดีโอนั้นยอมรับได้ แต่การที่ให้ทำกิจกรรม เช่น ขี่ม้า หยอดขนมครก นับเป็นกิริยาที่ไม่เหมาะสม ขัดกับภาพลักษณ์น่าเกรงขามของราชายักษ์ และผิดจารีตของโขนซึ่งเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูง
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โขนถูกใช้ในโฆษณาโปรโมทการท่องเที่ยว เมื่อปี 2549 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยผลิตโฆษณาชุด "Thailand Grand Invitation" โดยวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง" ผู้กำกับโฆษณาในชื่อเรื่อง "Thai Khon Costume" ก็นำเสนอภาพการแสดงโขนที่มีฉากหลังเป็นกำแพงเมืองจีนและกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่เพราะโฆษณาชุดนี้ได้ส่งภาพสตอรีบอร์ดให้กับสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ตรวจสอบก่อน จึงไม่เป็นปัญหา
ธีรภัทร์ ทองนิ่ม ผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ให้ความเห็นว่าโฆษณา Thai Khon Costume ไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือเป็นประเด็นปัญหา เพราะในกระบวนการผลิตมีการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ก่อน แต่สำหรับกรณีมิวสิควิดีโอ "เที่ยวไทยมีเฮ" ผู้ผลิตไม่ได้มาปรึกษาเราก็โดนร้องเรียน
"ผู้ทำมิวสิควิดีโออ้างว่าได้ปรึกษาสถาบันฯ แล้ว แต่เราหาไม่ได้ว่าเขามาปรึกษากับใคร เขากล้าเอ่ยชื่อไหมครับว่าเขาปรึกษาใคร เราจะได้รู้" นายธีรภัทร์กล่าว
นายอภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม แสดงทัศนะต่อมิวสิควิดีโอที่กำลังเป็นประเด็นอยู่นี้ว่า เป็นมิวสิควิดีโอที่ดูแล้วเพลิน เป็นการนำความคิดสร้างสรรค์มาเติมเต็มและต่อยอดในเชิงวัฒนธรรม
"ผมชอบมาก ผมว่าเป็นเรื่องการนำความคิดสร้างสรรค์มาเติมเต็มแล้วต่อยอดในเชิงวัฒนธรรม คนทั่วไปดูมิวสิควิดีโอแล้วเพลิน ดูแล้วยิ้ม ผมว่าก็ต้องให้เครดิตทาง ททท. แต่พอมีประเด็นเราก็ต้องมาคุยกันแล้วปรับปรุงให้เหมาะสม แต่คนทั่วไปก็คิดว่าดูแล้วสบายตา แต่มีประเด็นที่ทางครูโขนก็ติงมาให้เราคิด" นายอภินันท์กล่าว
ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เตรียมจัดประชุมร่วมกับกรมศิลปากรที่โรงละครวังหน้าในวันพรุ่งนี้ (23 ก.ย.2559) เพื่อจัดทำหลักการนำตัวละครโขนมาใช้ในสื่อ จากนั้นจะจัดเวทีเสวนาอีกครั้งในวันที่ 29 ก.ย.โดยเชิญตัวแทน ททท. และผู้จัดทำเอ็มวี "เที่ยวไทยมีเฮ" ร่วมทำความเข้าใจเรื่องการนำศิลปวัฒนธรรมเพื่อการประยุกต์ใช้อย่างร่วมสมัย เพื่อไม่ให้ขัดกับ พรบ.ส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559 มาตรา 24 ซึ่งให้อำนาจระงับการกระทําที่ก่อให้เกิดความเสียหายได้
"ต้องเข้าใจว่าการตีความในเรื่องการเพิ่มมูลค่า ต่อยอดศิลปะพื้นบ้าน การแสดงหรือศิลปะชั้นสูงเหล่านี้มันมีที่มาที่ไป บางครั้งคนที่ไปทำสิ่งเหล่านี้อาจไม่รู้หมดว่าควรไม่ควร อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องทำกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่ต้องพึงระวังว่าต้องมีพื้นที่แสดงออก ไม่ใช่เกร็งไปหมดแล้วคนไม่กล้าสร้างสรรค์" นายอภินันท์ระบุ
ขณะที่โลกออนไลน์ส่วนหนึ่งได้มีการรณรงค์แคมเปญไม่เห็นด้วยกับการร้องเรียนเอ็มวีเที่ยวไทยมีเฮ ผ่านเว็บไซต์ Change.org ซึ่งตอนนี้ขาดรายชื่อสนับสนุนอีกเพียง 5,000 รายชื่อเท่านั้น จึงจะครบจำนวนที่ตั้งเป้าหมายไว้ 50,000 คน