ตามมาตรา 37/1 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 กำหนดว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นเพิ่มเติมหรือ "คำถามพ่วง" ได้รับความเห็นชอบในการลงประชามติ ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ
คำถามพ่วงในการทำประชามติระบุว่า "ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี"
หลังจากประชาชนส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงในการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2559 กรธ.จึงได้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ โดยแก้ไขในมาตราที่เกี่ยวกับกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี คือ มาตรา 159 และ มาตรา 272 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล
หลังจากดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแล้ว วันที่ 29 ส.ค.2559 กรธ.จึงได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาการแก้ไขนั้นเป็นการชอบด้วยผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่ ซึ่งศาลได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยและแถลงด้วยวาจากก่อนการลงมติในวันนี้ (28 ก.ย.2559)
โดยในการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวันนี้จะไม่มีการออกนั่งบัลลังก์เพราะไม่ใช่คำร้องที่มีคู่กรณี
ตามขั้นตอนตุลาการแต่ละคนจะทำความเห็นในการวินิจฉัยส่วนตนเป็นหนังสือ พร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุม ก่อนการลงมติ และเมื่อลงมติเสร็จสิ้นแล้ว ตุลาการที่เป็นองค์คณะจะทำคำวินิจฉัยตามมติของศาล ก่อนส่งคืนให้กับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่า อาจดำเนินการภายในวันนี้ (28 ก.ย.) หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติออกมาซึ่งหากไม่มีการปรับแก้
หลังจากนั้น กรธ.จะส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ให้นายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม แต่หากตุลาการเห็นว่าต้องมีการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญกรธ.ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน และส่งให้นายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม
อ่านคำชี้แจงของ กรธ.ประกอบการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับผลประชามติได้ ที่นี่
กรธ.เปิดฟังความเห็น "ร่างกฎหมายลูก 4 ฉบับ
ขณะที่ช่วงบ่ายวันนี้ กรธ.จะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ พรรคการเมืองและสื่อมวลชน เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือที่เรียกกันว่า "กฎหมายลูก" 4 ฉบับแรก ซึ่งได้แก่
1) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
2) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
3) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
4) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
โดยเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันนี้จะเป็นการรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับก่อน คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แล้วหลังจากนี้จึงจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งและว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาต่อไป
ทั้งนี้ ประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาคือ "การเลือกไขว้" เพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ว. 200 คน ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ระบุว่าจะมีการทดลองใช้การเลือก ส.ว.ในลักษณะนี้ไปก่อน แต่หากเกิดปัญหาก็เปลี่ยนแปลงได้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการทำประชามติบัญญัติเพียงแค่วิธีการเลือกกันเอง เช่นเดียวกับ ส.ว.กลุ่มวิชาชีพที่เขียนเปิดกว้างไว้ ซึ่งหากพบปัญหาก็เปลี่ยนวิธีการหรือกำหนดกลุ่มขึ้นใหม่ได้
ในส่วนของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งนั้น ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกคือการแจก "ใบดำ" หรือการกำหนดโทษเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง ซึ่งนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ให้ความเห็นว่าควรบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่นายมีชัยเห็นว่าควรเขียนให้ชัดเจนในร่างกฎหมายลูก
ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง นายสมชัยเสนอว่าควรอยู่บนหลักการที่ว่าพรรคการเมืองต้อง "ตั้งยาก-อยู่ยาก-ยุบยาก" แต่นายมีชัยเห็นว่าควรเป็นไปตามหลักพอดีและ กรธ.ไม่มีเจตนาที่จะ "Set Zero" กกต.หรือองค์กรอิสระ ซึ่ กรธ.ยืนยันว่ายังไม่ได้ข้อสรุปในเนื้อหาร่างกฎหมายลูกแม้แต่จะได้ร่างแรกฯ มาจาก กกต.แล้วก็ตาม
ทั้งนี้ กรธ.ต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญซึ่งมีทั้งหมดรวม 10 ฉบับให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน พร้อมจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ และการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้