วันนี้ (1 ต.ค.2559) ความพยายามเรียนรู้การใช้สื่อโซเซียลมีเดียและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มช่องทางการสื่อสาร เป็นอีกแนวทางที่ช่วยให้ผู้สูงอายุในปัจจุบัน รู้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม และถือเป็นความพยายามปรับเปลี่ยนตัวเองให้มีคุณค่า
จากผลการศึกษาพฤติกรรมทางสุขภาพเศรษฐกิจ สังคม ประจำปี 2559 ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล พบว่า ผู้สูงอายุหรือกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเปิดรับความหลากหลายในสังคมและเทคโนโลยี ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อย ยังพบปัญหาความมั่นคงของรายได้ยามชราภาพ มีเพียงร้อยละ 18 เท่านั้น ที่มีหลักประกันรายได้ที่มั่นคงจากกองทุนต่างๆ
รศ.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา นักวิจัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล กล่าวว่า นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังต้องเผชิญสภาวะทางอารมณ์ เกิดปัญหาการเข้าถึงกลุ่มวัยอื่นๆ ดังนั้นผู้สูงอายุควรมองหาโอกาส สร้างประโยชน์ตามภาระงานที่เหมาะสม
“ผู้สูงอายุที่เกษียณแล้ว อาจจะต้องปรับรูปแบบการทำงาน ซึ่งไม่ควรเลิกทำงาน ถ้าไม่ทำงานก็อาจจะทำให้รู้สึกว่าตัวเองถดถอย และยิ่งถ้าไม่ทำงานขาดความเชื่อมโยงกับสังคม ก็จะยิ่งทำให้ผู้สูงอายุล้าหลัง จะยิ่งเหมือนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง พยายามหาสิ่งที่ตัวเองถนัดในการทำประโยชน์ต่างๆให้สังคมเพื่อให้ตัวเองมีคุณค่า” รศ.ชื่นฤทัย กล่าว
สำหรับสัดส่วนประชากรในปี 2559 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล พบว่า กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ หรือผู้สูงอายุ ซึ่งเกิดระหว่างปี 2486 ถึงปี 2503 มีจำนวนกว่า 11 ล้าน 7 แสนคน ส่วนใหญ่เกิดปัญหาการเข้าถึงกลุ่มวัยอื่นๆ จึงต้องยอมรับซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งพยายามหากิจกรรมทำร่วมกัน เพื่อลดช่องว่างความแตกต่างระหว่างวัย ขณะที่คนรอบข้างต้องปรับทัศนคติ ไม่มองว่าผู้สูงอายุเป็นภาระเช่นกัน