ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิชาการเสนอให้มีแล็บกลางร่วมตรวจสอบดีเอ็นเอช้าง

Logo Thai PBS
นักวิชาการเสนอให้มีแล็บกลางร่วมตรวจสอบดีเอ็นเอช้าง
ผู้เลี้ยงช้างและนักอนุรักษ์กังวลกระบวนการตรวจเลือดพิสูจน์ดีเอ็นเอช้างที่ต้องให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน โดยเห็นว่าเวลาน้อยอาจไม่เพียงพอต่อการดำเนินการ ขณะที่นักวิชาการเสนอให้มีแล็บกลางร่วมตรวจสอบดีเอ็นเอและวางแผนการดูแลช้างที่จะถูกยึดเป็นของแผ่นดิน

ปางช้างบริการนักท่องเที่ยวใน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในแหล่งเลี้ยงช้างของภาคเหนือ ที่จะต้องนำช้างทุกเชือกเข้ารับการตรวจสอบรหัสพันธุกรรม หรือ DNA ตามมาตรา 44 ของ คสช.

วาสนา ทองสุข ผู้จัดการปางช้างใน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ยินดีให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เพื่อยุติข้อสงสัยว่าปางช้างมีการนำช้างป่ามาสวมทะเบียน แต่ก็กังวลว่ากรอบเวลาดำเนินการ 180 วันอาจไม่เพียงพอ เพราะช้างบางส่วนถูกปล่อยเลี้ยงไว้ในป่าลึก หรืออยู่ในช่วงตกมัน

ด้านโซไรดา ซาลวาลา เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนช้าง แสดงความกังวลถึงขั้นตอนการดำเนินการที่อาจล่าช้าเช่นกัน จึงควรมีการจัดชุดเฉพาะกิจเข้าตรวจสอบในพื้นที่ห่างไกลและเร่งทำความเข้าใจกับคนเลี้ยงช้างตามแนวชายแดน เพื่อป้องกันการนำช้างออกนอกประเทศเพราะเกรงว่าจะถูกยึดช้าง

ขณะที่ ผศ.น.สพ.ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาและวิจัยช้าง คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นว่ากรณีพบช้างที่ไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบดีเอ็นเอตามกำหนด หรือพบว่าเป็นช้างป่าและต้องตกเป็นของแผ่นดิน ก็ต้องมีการวางแผนการดูแลช้างกลุ่มนี้ไม่ให้เกิดปัญหาในระยะยาว นอกจากนี้ยังควรมีแล็บกลาง ซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมตรวจสอบดีเอ็นเอเพื่อความเป็นธรรมในการตรวจสอบ

ข้อมูลของมูลนิธิเพื่อนช้าง ระบุว่าในการสำรวจประชากรช้างเมื่อ 10 ปีก่อน จำนวนช้างเลี้ยงในประเทศไทยมีประมาณ 3,000 กว่าเชือก แต่ปัจจุบันจำนวนช้างเลี้ยงกลับเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 4,000 เชือก จึงทำให้ทางมูลนิธิตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการลักลอบนำช้างป่ามาสวมสิทธิ์เป็นช้างเลี้ยง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง