ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เศรษฐกิจไทยอาจถูกกีดกันทางการค้าทางอ้อม หลัง "ทรัมพ์" เป็นผู้นำสหรัฐฯ

เศรษฐกิจ
9 พ.ย. 59
18:55
2,295
Logo Thai PBS
เศรษฐกิจไทยอาจถูกกีดกันทางการค้าทางอ้อม หลัง "ทรัมพ์" เป็นผู้นำสหรัฐฯ
สิ่งที่ไทยต้องประเมินอย่างใกล้ชิด หลัง โดนัล ทรัมพ์ เป็นผู้นำสหรัฐฯ นอกจากผลกระทบด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคง คือด้านเศรษฐกิจ หากทรัมพ์ทำตามนโยบายที่หาเสียงว่าจะตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากจีน ไทยอาจถูกกีดกันทางการค้าทางอ้อมจากการเป็นคู่ค้าของจีน

การมองจีนเป็นผู้ร้ายสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ส่งผลดีต่อไทยเท่าไหร่ เพราะมาตรการกีดกันทางการค้าสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน จะกระทบเป็นห่วงโซ่มายังไทย เพราะจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย "สหรัฐฯ ต้องมาก่อน" เป็นนโยบายที่นายทรัมพ์มองจากความตกต่ำของสหรัฐฯ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมนโยบายของเขาจึงต่อต้านการค้าเสรี "การค้าระหว่างประเทศ" จึงเป็นประเด็นที่น่าจะส่งผลกระทบต่อไทยชัดเจนมากที่สุด

นายทรัมพ์ประกาศหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่เริ่มหาเสียงว่าจะเพิ่มอุปสรรคทางการค้าทั้งที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษี เช่น การขึ้นภาษีนำเข้า โดยจะใช้มาตรการเหล่านี้กับหลายๆ ประเทศ รวมถึงคู่ค้าหลัก อย่างจีนและเม็กซิโก ด้วยเหตุผลว่าทั้ง 2 ประเทศ "เป็นอุปสรรคกีดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ" ดังนั้น ไทยย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย จากการเป็นคู่ค้าสำคัญกับจีน ขณะเดียวกัน มีมาตรการดึงดูดฐานการผลิตกลับมายังสหรัฐฯ ด้วยการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือเพียงร้อยละ 15 จากเดิม เกือบร้อยละ 40 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลต่อธุรกิจยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ของไทย เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่บริษัทสหรัฐฯ จำนวนมากมาลงทุนในไทย

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ระบุว่า นโยบายการค้าระหว่างประเทศของทรัมพ์ ที่จะมีมาตรการตอบโต้การค้าจากจีนจะกระทบกับไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ หลังโดนัลด์ ทรัมพ์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ คนที่ 45

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอวอช) วิเคราะห์ว่า ถ้าเป็นไปตามนโยบายที่ทรัมพ์ได้แถลงไว้ อาจทำให้เงินลงทุนของสหรัฐฯ ที่จะมาลงทุนในประเทศต่างๆ ลดลง เพราะทรัมพ์มีแนวคิดที่จะสร้างการลงทุนภายในประเทศให้มากขึ้นเพื่อสร้างการจ้างงาน อีกทั้งผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการตรวจสอบอื่นๆ มากขึ้นที่จะเพิ่มเข้ามา นอกเหนือจากมาตรการด้านภาษีและมาตรการจีเอสพี หรือสิทธิพิเศษทางการค้า ที่ไทยได้รับจากสหรัฐฯ อาจถูกยกเลิกไป ทำให้ผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าจะถูกเก็บภาษีเพิ่มปล่อยเสียง นอกจากนี้ การผูกขาดเรื่องข้อมูลยาในข้อตกลงทีพีพีอาจมีการแก้ไขให้เป็น 12 ปี จากเดิม 8 ปี ซึ่งจะทำให้ประเทศที่ลงนามร่วมถูกผูกขาดราคายาที่แพงยาวนานขึ้น

ปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ถ้าไม่นับอาเซียน 10 ประเทศรวมกัน โดยในปี 2558 ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นสัดส่วนร้อยละ 11.2 ของมูลค่าการส่งออกของไทยทั้งหมด สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์และส่วนประกอบ ส่วนปีนี้ สัดส่วนการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน อยู่ที่ร้อยละ11.4 หากสหรัฐฯ มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าในทิศทางที่มีการกีดกันมากขึ้น จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการส่งออกของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระทรวงพาณิชย์จึงได้เตรียมพร้อมจับตาการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่อาจจะเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจชัดเจนขึ้นในปีหน้า

นายบุญฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงการที่ทรัมพ์ไม่สนับสนุนความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ว่า หากสหรัฐฯ ไม่ให้สัตยาบรรณก็จะทำให้ความตกลง TPP ไม่มีผลบังคับใช้กับประเทศสมาชิกทั้ง 12 ประเทศ เนื่องจากมีข้อกำหนดไว้ว่าหากประเทศสมาชิกอื่นๆ ที่ให้สัตยาบรรณรับรอง TPP มี GDP รวมกันแล้วมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 85 ของ GDP รวมทั้ง 12 ประเทศก็จะบังคับใช้ความตกลง TPP ได้ ซึ่งเฉพาะสหรัฐฯ ประเทศเดียวก็มี GDP คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 60 ของ GDP รวมทั้ง 12 ประเทศแล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง