ทวิตเตอร์ของคนดัง ทั้งนักร้องสาว เลดี้ กาก้า, เซีย, พิงค์, นักแสดง ลาเวิร์น ค็อกซ์ และนางแบบสาว จีจี้ ฮาดิด พร้อมใจกันกระตุ้นให้แฟนเพลงร่วมกันลงชื่อทางเว็บไซต์ change.org เพื่อเรียกร้องให้คณะผู้เลือกตั้ง หรือ Electoral College ซึ่งมีหน้าที่โหวตเลือกประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 19 ธ.ค.2559 เปลี่ยนใจมาเลือกให้นางฮิลลารี คลินตัน เป็นผู้นำสหรัฐฯ แทน เพราะแม้นายทรัมพ์จะมีคะแนนเสียงจาก Electoral vote มากกว่า แต่หากดูที่คะแนน Popular vote ซึ่งมาจากเสียงของประชาชนที่แท้จริง พบว่านางคลินตันมีคะแนนมากกว่าทรัมป์กว่า 2 ล้านคะแนนเสียง
โดยล่าสุด มีผู้ลงชื่อสนับสนุนให้คณะผู้เลือกตั้งเปลี่ยนผลการเลือกตั้งแล้วเกือบ 4 ล้านคน
เหตุผลที่สหรัฐใช้ระบบนับคะแนนเลือกตั้งแบบ Electoral vote เนื่องจากช่วงก่อตั้งประเทศ ที่การศึกษาของประชาชนยังไม่ทั่วถึง มีความกังวลว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่อาจไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะเลือกผู้นำที่เหมาะสม จึงต้องจัดตั้งตัวแทนผู้มีการศึกษาของแต่ละรัฐไปเลือกผู้นำอีกทอดหนึ่ง ซึ่งพวกเขาก็จะเลือกผู้นำตามผล Electoral vote อย่างไรก็ดี กฏหมายของสหรัฐไม่ได้กำหนดว่า คณะผู้เลือกตั้งจำเป็นต้องลงคะแนนตาม Electoral vote เสมอไป พวกเขาสามารถเลือกผู้สมัครฝั่งตรงข้ามได้ ซึ่งผลกระทบมีเพียงการถูกปรับเงินเพียง 500-1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น โดยคนเหล่านี้จะถูกเรียกว่าเป็น faithless electors หรือผู้เลือกตั้งผู้ไร้ศรัทธา
เอไลจาห์ เบิร์ก ชาวเมือง นอร์ธ คาโรไลน่า ผู้ริเริ่มการล่ารายชื่อ ระบุว่า นายทรัมพ์ไม่มีคุณสมบัติเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เนื่องจากมีพฤติกรรมมุ่งร้าย, ฉ้อฉล และคุกคามทางเพศ และการไร้ประสบการณ์ด้านบริหารประเทศ ทำให้การขึ้นมาเป็นผู้นำของเขาเป็นภัยต่อบ้านเมือง ส่วนเลดี้ กาก้า ก็ร่วมทวิตว่า ถ้าคุณหวาดกลัวต่อสถานการณ์ทางการเมืองของสหรัฐ ก็จงร่วมกันลงชื่อเดี๋ยวนี้
ก่อนการเลือกตั้ง มีคณะผู้เลือกตั้ง 4 คน ที่มีความตั้งใจจะไม่เลือกผู้นำตามผล Electoral vote โดย 2 คนเป็นสมาชิกพรรคเดโมแครตที่ไม่ต้องการลงคะแนนให้ ฮิลลารี คลินตัน และอีก 2 คนเป็นตัวแทนจากรีพับลิกันที่ไม่ต้องการสนับสนุนทรัมพ์ แม้แต่ตัวทรัมพ์เองก็เคยต่อต้านการนับคะแนนเลือกตั้งแบบ Electoral vote โดยมองว่าเป็นภัยต่อประชาธิปไตย
จากประวัติศาสตร์การเลือกตั้งสหรัฐฯ มีผู้เลือกตั้งผู้ไร้ศรัทธาที่โหวตผู้นำสวนกับคะแนน Electoral vote มาแล้ว 157 คน แต่ไม่มีครั้งไหนที่มีผลต่อการเปลี่ยนตัวผู้นำ ก็ต้องลุ้นว่ากระแสต่อต้านทรัมพ์ที่หนักขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลต่อการเลือกผู้นำในเดือนหน้าหรือไม่