วันนี้ (27 พ.ย.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการเสวนาทางวิชาการหัวข้อ " ชะตากรรมคนจนในช่วงเปลี่ยนผ่าน ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของใคร " นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่ากลุ่มคนจนในประเทศกว่าร้อยละ 60 เป็นกลุ่มเกษตรกร และร้อยละ 40 เป็นกลุ่มคนทำงาน
ที่ผ่านมาสถานการณ์กลุ่มครัวเรือนที่จนที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศ ส่วนใหญ่ยังคงมีรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่ายมากถึงร้อยละ 27 หรือมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 2,500 บาท
ขณะที่ค่าจ้างหรือเงินเดือนและเงินช่วยเหลือสงเคราะห์ เป็นแหล่งรายได้สำคัญสำหรับกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุดของประเทศ ชี้ให้เห็นว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้าง มีผลต่อความเป็นอยู่ของลูกจ้างโดยเฉพาะลูกจ้างในกระบวนการผลิต และลูกจ้างทั่วไป
“ กลุ่มครัวเรือนร้อยละ 20 ของประเทศ มีรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย ถ้ามีรายได้ประมาณ 100 บาท จะมีค่าใช้จ่าย 126 บาท ขาดอยู่ประมาณ 26 เปอร์เซ็น ถ้าเทียบเป็นเงินก็ขาดอยู่ประมาณ 2,500 บาท เพราะฉะนั้น เงินช่วยเหลือที่รัฐบาลให้มาล่าสุด 1,500-3,300 บาท จะสามารถช่วยเหลือคนกลุ่มได้แค่ 1 เดือน” เดชรัต กล่าว
นายเดชรัต เห็นว่านโยบายแจกเงินให้กับคนจน 5.4 ล้านคน เป็นเงิน 12,750 ล้านบาท หัวละ 1,500-3,000 บาท เป็นเพียงความช่วยเหลือระยะสั้น ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย และเกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม จึงเสนอว่ารัฐบาลควรหามาตรการส่งเสริมให้คนจนมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยที่ระบบเศรษฐกิจยังคงเดินหน้าต่อไปได้ รวมถึงเพิ่มค่าตอบแทนภาคการเกษตร จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชากรได้ดีกว่า