วันนี้ (2 ธ.ค.2559) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน" ว่า กว่า 7 ทศวรรษ ที่ประเทศไทยมีเสถียรภาพและความมั่นคง ด้วยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลักชัย คนไทยมีแต่ความสงบสุข ร่มเย็น ภายใต้พระบรมโพธิสมภารแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงครองแผ่นดินโดยทรงตั้งมั่นใน “ทศพิธราชธรรม” เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยามอย่างแท้จริง ตามที่พระองค์ทรงตั้งพระราชสัตยาธิษฐานไว้ตลอดรัชสมัยของพระองค์
บัดนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดเกล้าฯ สถาปนาและทรงสถิตอยู่ในพระราชสถานะองค์พระรัชทายาทมากว่า 44 ปี ทรงพระกรุณา “รับ” คำกราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นทรงราชย์เป็น “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เพื่อทรงสืบสานพระบรมราชปณิธาน และทรงเจริญรอยตามพระยุคลบาท ในการสานต่อ “ศาสตร์พระราชา” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้ยังคงอยู่คู่แผ่นดินไทยสืบไป
ขอให้ทุกคนจงร่วมกันตั้งจิตอธิษฐาน ขอพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้โปรดอภิบาลรักษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ให้ทรงพระเจริญ สถิตเป็นมิ่งขวัญปกเกล้าปกกระหม่อมอาณาประชาราษฎรชาวไทย รวมทั้งให้ทรงพัฒนาประเทศไทย ภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จนประสบความสำเร็จ บังเกิดความเจริญรุ่งเรือง มีสันติสุขและความสามัคคีปรองดองสมดังพระราชปณิธานปรารถนาตราบกาลนานเทอญ
หลายปีที่ผ่านมา มีโครงการในพระราชานุเคราะห์และโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มากมาย นอกจากจะทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทแล้ว ยังเป็นการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไปขยายผล ล้วนเป็นคุณประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ต่อพสกนิกรทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ เช่น โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ ซึ่งได้รับพระราชทานพระราชานุญาตอัญเชิญพระนามาภิไธยย่อไว้ในเครื่องหมายตราสัญลักษณ์โครงการ เป็นโครงการที่ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีการเกษตร หรือนวัตกรรมที่เหมาะสม ช่วยเพิ่มผลผลิตและสร้างแรงจูงใจในการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการเกษตร ด้วยการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างองค์กรวิจัยและพัฒนาภาคการเกษตรกับกลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย ในการให้คำปรึกษาด้วยความรู้และบริการทางวิชาการใหม่ๆ การตรวจวิเคราะห์และวินิจฉัย รวมทั้งการให้บริการด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือทางห้องปฏิบัติการ ที่มุ่งเน้นการเข้าถึงเกษตรกรโดยตรง สามารถตอบสนองทั้งความต้องการและทันต่อเหตุการณ์
มีกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ คลินิกพืช ช่วยแก้ปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืช วัชพืช สารพิษตกค้าง และการขาดธาตุอาหารพืช และวัตถุมีพิษทางการเกษตร, คลินิกดิน ช่วยวิเคราะห์และตรวจสอบดินและปุ๋ย, คลินิกสัตว์ ช่วยแก้ปัญหาโรคสัตว์ ด้วยการตรวจรักษาพยาบาล ควบคุมบำบัด และให้ฉีดวัคซีนแก่ปศุสัตว์, คลินิกประมง เผยแพร่องค์ความรู้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมทั้งการแก้ปัญหาโรคสัตว์น้ำ และการปรับปรุงคุณภาพน้ำ, คลินิกบัญชี ให้คำแนะนำและส่งเสริมการจัดทำบัญชีฟาร์ม เพื่อการบริหารจัดการที่ดี, คลินิกชลประทาน ให้ความรู้และหลักวิชาการเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ, คลินิกสหกรณ์ ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรในการรวมกันเป็นสหกรณ์ และคลินิกกฎหมาย ที่ดำเนินงานด้านกฎหมายที่ดิน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้เคยพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ 1,350 ไร่ ในพื้นที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อดำเนินการในลักษณะ “คลินิกเกษตร” เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการเกษตรจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 แบ่งพื้นที่ ร้อยละ 70 เป็นพื้นที่ป่าไม้ สำหรับพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยววนเกษตร ในลักษณะเส้นทางเดินป่าสำหรับการศึกษาธรรมชาติ และพื้นที่ส่วนอื่นๆ เป็นที่ตั้งศูนย์เรียนรู้ พื้นที่ทรงงาน และแปลงสาธิต เพื่อการพัฒนาการเกษตรแบบครบวงจร ประกอบด้วย การจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ การฟื้นฟูปรับปรุงดิน การพัฒนาแหล่งน้ำ และการส่งเสริมอาชีพ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่วนเกษตรและธนาคารอาหารชุมชน โดยมีการพัฒนาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำลำธาร สำหรับใช้เป็นแหล่งรวบรวมพัฒนาพืชสมุนไพรและเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติให้ชุมชนอีกด้วย
ปัจจุบัน พื้นที่ดังกล่าวได้ขยายบทบาทเป็นศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชน โดยใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมและวิจัยพัฒนาการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น การเพาะชำกล้าไม้โตเร็วเพื่อแจกจ่ายให้ราษฎรนำไปปลูกป่า “ไม้ใช้สอย ไม้โตเร็ว” สำหรับใช้เป็นถ่านและฟืนในการหุงต้มอาหาร ในชุมชนและครัวเรือนควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ราษฎรผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวมวล และวัสดุเชื้อเพลิงอื่นๆ ทดแทนการใช้ฟืนอย่างมีประสิทธิภาพในชีวิตประจำวัน นอกจากจะช่วยลดปริมาณการใช้ไม้ฟืนจากป่าธรรมชาติแล้ว ยังส่งผลให้ราษฎรเกิดความรักความหวงแหนทรัพยากรป่าไม้และเรียนรู้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน สอดคล้องกับ “ศาสตร์พระราชา” ในการให้ความสำคัญกับ “การปลูกป่าในใจคน” โดยการฟื้นฟูป่านั้นต้องปลูกจิตสำนึกการรักผืนป่าในใจคนก่อน
นอกจากพระราชกรณียกิจด้านการเกษตรที่เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ชาวประมง ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชนชาวไทยแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ ทรงให้ความสำคัญกับด้านการศึกษา นับแต่ในอดีตต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการ “โครงการทุนการศึกษา” ด้วยพระราชปณิธานที่มุ่งสร้างความรู้ สร้างโอกาสแก่เยาวชนไทย โดย เฉพาะเด็กที่มีฐานะยากจน ลำบาก แต่ประพฤติดี มีความสามารถในการศึกษา ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มั่นคงต่อเนื่องตามความสามารถของแต่ละคน ถือเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถและเพิ่มศักยภาพแก่เยาวชนไทย ให้เข้าถึงระบบการศึกษาที่มีมาตรฐาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ต่อมา พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งเป็น “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” (ม.ท.ศ.) อีกทั้งทรงมีพระราชดำริให้กำหนดหลักเกณฑ์การพระราชทานทุนและวิธีการคัดเลือก คัดสรร และกลั่นกรองนักเรียนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อรับทุนการศึกษาพระราชทานในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ ต่อเนื่องไปจนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความรู้ ความสามารถ และความต้องการของผู้เรียน ที่สำคัญทรงให้ยึดหลักให้มีการกระจายทุนครบในทุกจังหวัดและให้มีความเท่าเทียมระหว่างเพศของผู้รับพระราชทานทุนด้วย ปัจจุบันมีนักเรียนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องกว่า 1,000 คนแล้ว
ในส่วนของรัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนา “ศักยภาพทรัพยากรมนุษย์” และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการปฏิรูปการศึกษาที่รองรับการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 มุ่งเน้นการการสร้างจิตนาการ การคิดวิเคราะห์ และการคิดเชิงสร้างสรรค์ นโยบายสำคัญส่วนหนึ่ง ได้แก่ การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ คือการลดเวลาที่นักเรียนเรียนแบบ Passive เป็นผู้รับอย่างเดียวลงและเพิ่มเวลาที่นักเรียนเรียนแบบ Active เป็นผู้ปฏิบัติเองเรียนรู้เองให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ทั้งนี้ การจัดการเรียนรู้ต้องมุ่งให้นักเรียนได้รับความรู้ มีความเข้าใจ และนำความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน การทำงาน และการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้อง
องค์การสหประชาชาติ ประกาศให้วันที่ 3 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันคนพิการสากล” จึงขอนำเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของนายช่วง โพธิรัญ อายุ 68 ปี เป็นผู้บกพร่องทางสายตา ศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ซึ่งตั้งขึ้นมาด้วยแนวพระราชดำริของ “ในหลวง” รัชกาลที่ 9 ทำให้ทุกวันนี้คนตาบอดที่มีความพร้อม มีศักยภาพและความสามารถ ได้รับโอกาสทางการศึกษาไม่ต่างจากคนทั่วไป สามารถเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาทั่วไป สอบชิงทุนไปเรียนในสถาบันอุดมศึกษาต่างประเทศ และมีหลายคนที่เรียนจบปริญญาเอก
นอกจากนี้ ทรงมีพระราชประสงค์อยากให้ผู้พิการทางสายตาทุกคนลุกขึ้นมาต่อสู้กับชีวิตไม่ ท้อถอยกับโชคชะตา พระองค์จึงทรงพระราชนิพนธ์บทเพลง “ยิ้มสู้” ขึ้นมาเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้ผู้พิการทุกคน ซึ่งปัจจุบันเป็นเพลงที่ให้กำลังใจกับทุกคนในประเทศไทย ให้มีความเพียรอันบริสุทธิ์และไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค
หลายครั้งที่พระองค์ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชทานเลี้ยงอาหารที่โรงเรียนสอนคนตาบอดฯ ช่วงปีใหม่ โดยนายรัชตะ มงคล อุปนายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดฯ เล่าว่า สมัยก่อนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จฯ มาที่โรงเรียนฯ เพื่อไปทรงเยี่ยมเยียนนักเรียนผู้พิการทางสายตา หลายครั้งพระองค์โปรดที่จะเล่นกับเด็กๆ โดยไม่ให้บอกว่าพระองค์คือใคร แต่ทรงให้ขานพระนามย่อว่า “พล” อีกทั้งยังทรงเป็นพระอาจารย์สอนวิชาดนตรีให้แก่ผู้พิการทางสายตา และทรงเป่าแซกโซโฟนพระราชทานแก่ทุกคนด้วย
4 ธ.ค. ดึงประชาชนเก็บผักตบ 6 ล้านตัน
เห็นได้ว่า “ศาสตร์พระราชา” ให้ความสำคัญกับทุกเรื่อง ไม่ละเลยเรื่องเล็กๆ รวมทั้งการแก้ปัญหา “ผักตบชวา” ที่หลายคนไม่สนใจจนกว่าจะได้รับผลกระทบ และความเดือดร้อนจากน้ำท่วมขัง ยิ่งกว่านั้นคนส่วนใหญ่มองผักตบชวาว่า ไร้ค่า ไม่มีราคาค่างวดอะไร หากนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ก็เกิดประโยชน์ เช่น กระเป๋าสานด้วยมือ อาหารสัตว์ หรือปุ๋ยหมัก ปัจจุบันผักตบชวากว่า 6 ล้านตันทั่วประเทศ ทั้งในแหล่งน้ำปิดและแหล่งน้ำเปิด กำลังก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศมามาอย่างต่อเนื่อง เช่น ความหนาแน่นของจำนวนผักตบชวาทำให้น้ำเน่าเสียเพราะขาดออกซิเจน การไหลระบายของน้ำเป็นไปได้ช้าจนเกิดปัญหาน้ำล้นตลิ่ง รวมทั้งกีดขวางการขนส่งและการสัญจรทางน้ำ
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเคยมีกระแสพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2532 มีใจความที่ทรงห่วงใยต่อพสกนิกรชาวไทยในปัญหาของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ทั้งในประเทศและสังคมโลกที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำเสนอคณะรัฐมนตรีและมีมติกำหนดให้วันที่ 4 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันสิ่งแวดล้อมไทย”
ในปีนี้ คณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวา มีมติเห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จัดกิจกรรมรณรงค์ “จิตอาสาประชาร่วมใจแก้ไขปัญหาผักตบชวา” ให้เป็นกิจกรรมหลัก เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทยในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ พร้อมกันในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยกำหนดมาตรการในการกำจัดผักตบชวาไว้ 2 ขั้นตอน คือ มาตรการในการกำจัด (เก็บใหญ่) กรอบเวลาดำเนินการ 6 เดือน ตั้งเป้ากำจัดผักตบชวา 6 ล้านตันทั่วประเทศ มาตรการในการป้องกัน (เก็บเล็ก) ให้หน่วยงานท้องถิ่น อำเภอ และจังหวัด ตลอดจนประชาชนทุกคนได้ร่วมกันกำชับกวดขันเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและการจัดกิจกรรมรณรงค์แก้ไขปัญหา รวมทั้งการสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เรือพาย เรือท้องแบน
"หอมมะลิไทย" แชมป์ข้าวโลก
ขอให้ประชาชนชาวไทย ร่วมกันภาคภูมิใจกับ “ข้าวหอมมะลิของไทย” ที่ได้ชื่อว่ามีรสชาติดีที่สุดในโลก ครองอันดับ 1 ปี 2016 ในการประกวดข้าวระดับโลกที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ด้วยเกณฑ์การตัดสิน 4 ด้าน ได้แก่ กลิ่น รสชาติ ความเหนียวนุ่ม และรูปร่างลักษณะ จึงขอให้พี่น้องเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยกันรักษาและปรับปรุงมาตรฐานข้าวหอมมะลิ เพื่อเพิ่มมูลค่าด้วยคุณภาพที่มีความแตกต่างให้ได้ในอนาคต รวมทั้งข้าวพันธุ์ต่างๆ ของไทย ให้เป็นที่นิยม มีคุณภาพดี เป็นเกษตรอินทรีย์สำหรับคนไทยและผู้บริโภคทั่วโลก
นอกจากนี้ขอให้ประชาชนร่วมมือกันสร้างกลไก “ประชารัฐ” เพื่อสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ และก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ด้วยการใช้กลไกประชารัฐสนับสนุนการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพต่างๆ รวมทั้งเกษตรแปลงใหญ่ โดยให้ความสำคัญในการสร้างแบรนด์และการกำหนดมาตรฐานที่เป็นสากล สร้างห่วงโซ่คุณค่า ทั้งอุปสงค์และอุปทาน ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากให้ครบวงจร ทั้งต้นทาง กลางทาง ปลายทาง สร้างห่วงโซ่ใหม่ โดยเชื่อมต่อระหว่าง 5 S-Curve เดิม กับ 5 New S-Curve ใหม่ เพื่อนำไปสู่ Thailand 4.0 ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่มุ่งสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนด้วยระบบเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและอำนวยความสะดวกให้มากที่สุดและเป็นสากล
ผลการดำเนินการของรัฐบาลในช่วงปี 2557-2559 ภายใต้วิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ดังนี้ มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนกว่า 5,000 โครงการ มูลค่าลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท โครงการที่ขอรับการส่งเสริม คิดเป็นร้อยละ 54 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งการลงทุนด้านดิจิทัลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การส่งเสริมการรวมกลุ่มจังหวัดเป็นคลัสเตอร์ โดยคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ช่วยให้สามารถค้นหา “อัตลักษณ์” ในแต่ละพื้นที่และภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ตลอดจนเสนอแนะแนวทางของการส่งเสริมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น