รายได้กว่า 1,200 ล้านบาท และผู้ใช้บริการกว่าร้อยละ 46 คือตัวเลขจากการสำรวจของ Global Web index ที่ชี้ถึงการเติบโตของการฟังเพลงออนไลน์ในไทยที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 75 นับตั้งแต่การเปิดตัวบริการมิวสิคสตรีมมิ่งรายแรกในไทยเมื่อ 4 ปี ที่แล้ว ซึ่งปัจจุบันไทยมีผู้ให้บริการหลายรายผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือและเว็บไซต์
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของบริการสตรีมมิ่ง ยังมีส่วนไม่น้อยต่อการปิดตัวของคลื่นวิทยุหลายรายในช่วงที่ผ่านมา รวมถึง ซี๊ดเอฟเอ็ม ที่อยู่มานานถึง 12 ปี ด้วยเหตุผลที่ว่า พฤติกรรมผู้ฟังรุ่นใหม่กำลังเปลี่ยนไป มีการวิเคราะห์กันว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าบริการฟังเพลงออนไลน์จะขึ้นมาครองตลาดกว่าร้อยละ 50 ของวงการเพลงไทย
ท่ามกลางการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของวงการสตรีมมิ่งและยอดฟังของศิลปินที่สูงระดับ 100 ล้านครั้ง แต่เม็ดเงินที่กลับมาสู่วงการเพลงกลับน้อยจนไม่สามารถพยุงวงการเพลงที่อยู่ในช่วงขาลงได้และทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับเพลงต้องปิดตัวลงไปทุกนาที ส่วนหนึ่งเพราะการแข่งขันลดค่าบริการของบรรดามิวสิคสตรีมมิ่งที่ต้องเร่งขยายฐานคนฟัง และอีกปัญหาสำคัญคือค่านิยมของคนฟังเพลงยุคออนไลน์ที่เลือกจ่ายเงินให้กับผลงานเพลงของศิลปินน้อยลงกว่าในอดีต
ไม่ว่าวงการเพลงไทยจะพร้อมหรือไม่ หากผลสำรวจตลาดล่าสุดก็ชี้ว่าบริการมิวสิคสตรีมมิ่งในเอเชียกำลังเติบโตอย่างสม่ำเสมอถึงร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัดส่วนการใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มสูงขึ้น โจทย์สำคัญในวงการเพลงยุคต่อไป จึงไม่ใช่แค่การปรับตัวไปกับโลกยุคดิจิทัล แต่กลับเป็นปัญหาพื้นฐานที่ว่าจะสร้างรายได้จากจำนวนคนฟังเพลงในมิวสิคสตรีมมิ่งได้อย่างไร