กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช มีสัตว์ป่าของกลางต้องดูแลประมาณ 30,000 ตัว แต่ได้รับงบประมาณปีละ 10 ล้านบาท กระจายให้กับสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าทั่วประเทศ
งบประมาณกับจำนวนสัตว์ที่ต้องดูแลไม่สอดคล้องกัน มองในแง่ดีอาจจะสะท้อนการเข้มงวดจับกุมขบวนการค้าสัตว์ป่าเข้มข้น ยึดสัตว์ป่าของกลางได้มาก แต่เมื่อขบวนการนี้ยังไม่ลดลง กรมอุทยาน จึงขอเตรียมปรับแก้พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าปี 2535 เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่และออกหลักเกณฑ์สำหรับการจัดการสัตว์ต่างถิ่นของกลาง
นอกจากนี้ เมื่อการยึดสัตว์ของกลางไว้มีความเสี่ยง จึงมีข้อเสนอให้ไทยส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง ไม่ต้องรอให้คดีถึงที่สุด แต่ปัญหาคือกฎหมายไทยยังไม่มีหลักเกณฑ์การยึดสัตว์ป่าของกลางไว้เป็นการเฉพาะ
วิธีแก้ปัญหาคือใช้หลักการยึดของกลางเหมือนคดีอาญาทั่วไป แต่วิธีนี้ทำให้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ใช้งบประมาณมหาศาลดูแลทั้งสัตว์คุ้มครองของไทยและสัตว์ต่างถิ่นรวมกว่า 30,000 ตัว
โดยนายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช บอกว่า หลังมีการปรับแก้กฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า กรมอุทยานฯเตรียมที่จะแยกหน่วยงานที่รับผิดชอบสัตว์ป่าของกลางออกมาจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าโดยเฉพาะ
และเพิ่มมาตรการให้เข้มงวดมากขึ้น ทั้งในเรื่องของการดูแลฟื้นฟูสัตว์ต่างถิ่น และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการลักลอบขโมยสัตว์ของกลาง โดยเฉพาะสัตว์ต่างถิ่น ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงสูง จากความต้องการค้าและครอบครองที่ยังมีอยู่