โมเดลนี้มีสาระสำคัญในการขับเคลื่อนอยู่ 3 - 4 ประเด็นด้วยกัน และเป็นที่มาของแนวคิดการเมืองนำการทหาร แต่จะเทียบกับปัจจัยในยุคปัจจุบันได้หรือไม่ ดูเหมือนจะต่างในเชิงของการเป็นคู่ขัดแย้ง
ในยุคนั้นเกิดพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยขึ้นมาต่อสู้-โจมตีฝ่ายรัฐ สร้างสถานการณ์ความวุ่นวาย-ดึงประชาชนเป็นแนวร่วม จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ต้องออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 66/2523 แม้จะฟังดูเด็ดขาด...แต่ในทางปฏิบัติ คือการยุติการปราบปราม แล้วหันมาใช้กระบวนการพูดคุยทำความเข้าใจ โดยคู่ขนานไปกับการเปิดโต๊ะเจรจา
ในอดีต คือ การเจรจากับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่มีข้อมูลบางส่วนว่าให้การสนับสนุน พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอยู่ด้วย โดยสรุปความสั้นๆ คือต้องตัดท่อน้ำเลี้ยง-ตัดกระบอกเสียง เพื่อให้อ่อนแรงลงและเมื่อมวลชนของฝ่ายตรงข้ามน้อยลง ประชาชนมีความเข้าใจในภาครัฐมีมากขึ้น ก็ต้องเดินเครื่องยุทธวิธีของคำสั่ง 66/23 นั่นคือการเปิดรับผู้หลงผิด-เข้าร่วมพัฒนาชาติไทย" ขณะที่แกนนำส่วนหนึ่งต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม-ดำเนินคดีอาญาไปด้วย
นี่ยังไม่ใช่ข้อสรุปของแนวทางการสร้างความปรองดองเพราะอนุกรรมาธิการชุดนี้ ต้องไปพิจารณาแนวทางการสร้างความปรองดอง ที่ว่าด้วยการพักโทษ จำหน่ายโทษและนิรโทษกรรม ใช้เวลา 1 เดือน ถึงจะได้คำตอบว่า โมเดลนี้เหมาะสมหรือไม่ ถ้าอนุกรรมาธิการฯอาจเห็นว่าเหมาะสม แต่เมื่อเสนอไปยังคณะกรรมาธิการชุดใหญ่ อาจตีตกก็ได้
ถ้าเห็นตรงกันก็ยังต้องผ่านที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศอีก ตามขั้นตอนยังอีกไกลและถ้าเห็นชอบกันหมด ส่งให้รัฐบาล-คสช. ก็ยังสรุปไม่ได้ว่ารัฐบาลจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ คณะกรรมการ ป.ย.ป.จะรับไปดำเนินการหรือไม่เพราะ ป.ย.ป.ก็มี คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่เป็น 1 ใน 4 กลุ่มย่อย และได้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ ที่เตรียมจะเปิดเวทีรับฟังความเห็น จัดกระบวนการสร้างความปรองดองอยู่ด้วย
ธง..สุดท้ายอยู่ที่การลงนามความตกลง หรือ MOU-ปรองดองและถ้าฟังจากเสียงของนายกรัฐมนตรีและ พล.อ.ประวิตร ก็ดูจะไม่เห็นด้วย พูดคล้ายๆ กันว่า ไม่น่าจะใช่แนวทางการสร้างความปรองดองในปัจจุบัน