ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จี้ตรวจ "เส้นทางสวมตั๋วช้าง" กรมอุทยานฯ ยันผลตรวจดีเอ็นเอช้างโปร่งใส

สิ่งแวดล้อม
27 ก.พ. 60
11:04
467
Logo Thai PBS
จี้ตรวจ "เส้นทางสวมตั๋วช้าง" กรมอุทยานฯ ยันผลตรวจดีเอ็นเอช้างโปร่งใส
หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ยืนยันผล "ดีเอ็นเอ" ช้างพลายทีจี-พลายเกาะพยาเพ็ชร โปร่งใส 3 ครั้งและผลตรงกัน คือพบความผิดปกติตั๋วรูปพรรณช้างไม่ตรงกับตัวช้าง ขณะที่วันนี้ตัวแทนกลุ่มคนเลี้ยงช้าง ขู่นำช้าง 100 เชือก บุกทำเนียบรัฐบาล

จากกรณีวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ชุดพญาเสือกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้จัดแถลงข่าว "ผลการตรวจ DNA และการเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของช้างพลายทีจี และช้างพลายเกาะพยาเพ็ชร" ซึ่งพบความผิดปกติตั๋วรูปพรรณช้างไม่ตรงกับตัวช้าง ทำให้นายลายทองเหรียญ มีพันธุ์ เจ้าของวังช้างอยุธยาแลเพนียด ไม่พอใจผลการตรวจและขู่จะนำม็อบช้าง 100 เชือกมาล้อมทำเนียบรัฐบาล

 

 

วันนี้ (27ก.พ.2560) ดร.กนิตา อุ่ยถาวร หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยืนยันว่า จากการตรวจรหัสพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ของช้างทั้ง 2 เชือก คือพลายทีจี และพลายเกาะพยาเพ็ชร ที่เก็บตัวอย่างเลือดมาตรวจ 3 ครั้ง ในช่วงเวลาที่ต่างกันคือ ตามคำร้องขอของชุดพญาเสือ ตามคำสั่ง คสช.มาตรา 4 และรอบสุดท้าย วันที่ 26 ธ.ค.2559 ตามข้อตกลงร่วมของปางช้าง ผลตรวจดีเอ็นเอทั้ง 3 รอบ ตรงกันทั้งหมด

การเก็บตัวอย่างเลือด ดีเอ็นเอ หรือวัตถุพยานที่จัดเก็บมา โดยใช้วิธีการอารักขาวัตถุพยาน (chain of custody) คือ มีพยานรับทราบและลงลายเซ็นร่วมที่ถุงเก็บวัตถุพยานครบทั้ง 3 หน่วยงาน คือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมปศุสัตว์ และกรมการปกครอง รวมทั้งเมื่อมีการส่งต่อวัตถุพยาน จะมีการเซ็นกำกับโดยเจ้าหน้าที่ผู้รับ-ผู้ส่ง เป็นหลักฐาน กครั้ง

 

 

ดร.กนิตา บอกอีกว่า เมื่อส่งตัวอย่างวัตถุพยานมาเก็บที่หน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า จะต้องแนบใบส่งตัวอย่างจากทีมสัตวแพทย์ผู้ตรวจ พร้อมข้อมูลของช้างแต่ละตัว ที่ระบุ ชื่อช้าง เลข ช. ประจำตัวช้าง เลขไมโครชิพ และเลขทะเบียนจังหวัดอำเภอ เมื่อเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า รับตัวอย่างไว้แล้ว จะมีการจัดทำฐานข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์ พร้อมจัดทำแฟ้มทะเบียน

จี้ตรวจ "เส้นทางสวมตั๋วช้าง"

ส่วนการตรวจพิสูจน์พันธุกรรมเพื่อระบุอัตตลักษณ์ของช้าง จะใช้วิธีการระบุเครื่องหมายพันธุกรรมไมโครแซทเทลไลท์ จำนวน 13 ตำแหน่ง ซึ่งใช้กันโดยทั่วไปในระดับสากล และเป็นวิธีการเดียวกันกับ ที่สถาบันคชบาลแห่งชาติ โดยผลของพันธุกรรมช้างบ้านแต่ละเชือก ที่ปรากฏเป็นค่าจีโนไทป์ที่เป็นคู่แอลลีล 2 ค่าในแต่ละตำแหน่ง โดยค่าหนึ่งสืบทอดจากพ่อ อีกค่าหนึ่งสืบทอดจากแม่ สามารถนำไปใช้ระบุตัวและหาความสัมพันธุ์ความเป็นพ่อ-แม่-ลูก ได้

"กรณีที่มีปัญหาเป็นเพราะการตรวจโดยกรมอุทยานฯ ในปี 2560 ไม่ตรงกับข้อมูลที่ศูนย์คชบาลเคยตรวจไว้ ทั้งที่ไมโครชิพและช้างมีดีเอ็นเอตรงกัน แต่กลับมีตั๋วรูปพรรณช้างที่ไม่ตรงกัน จึงทำให้สงสัยว่าเส้นทางตั๋วช้าง มีที่มาอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ทางตำรวจจะต้องหาคำตอบ ส่วนผลแลปดีเอ็นเอช้างมีความโปร่งใส ถูกต้องแม่นยำอย่างแน่นอน" ดร.กนิตา กล่าว

ขณะที่วันนี้ ตัวแทนกลุ่มคนเลี้ยงช้างทั่วประเทศ เตรียมแถลงข่าวชี้แจงกรณีทีมพญาเสือกรมอุทยานฯ พบความผิดปกติตั๋วรูปพรรณช้างไม่ตรงกับตัวช้าง โดยระบุเตรียมนำช้าง 100 เชือก ล้อมทำเนียบรัฐบาลและขอให้ปลดนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง