หลังจากมีกระแสข่าวว่า น.ส.โซไรดา ซาลวาลา เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนช้าง ได้ทำหนังสือถึงประธานและคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อนช้าง โดยระบุตอนหนึ่งว่า "ดิฉันได้ตรองพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วจึงดำริว่า เมื่อไม่สามารถที่จะจัดหาบุคลากรที่จะทำงานต่อ และทุนทรัพย์ในการบริจาคไม่เพียงพอที่จะก้าวต่อไปในปีที่ 26 ในปี 2561 ของการก่อตั้งแล้ว ดิฉันจึงเห็นควรให้ยุติ มูลนิธิเพื่อนช้าง
ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์เปิดใจ น.ส.โซไรดา ซึ่งตอนนี้อยู่ที่โรงพยาบาลช้างของมูลนิธิที่ จ.ลำปาง
ข่าวที่ออกมาจริงหรือไม่
จริงๆ หนังสือเพิ่งออกเมื่อวันที่ 13 มีนาคมวันช้างไทย ยอมรับว่าเครียดและร้องไห้เสียใจหากต้องยุติบทบาทการงานที่เกี่ยวกับช้าง มูลนิธิเพื่อนช้างก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2541 รวมระยะเวลา 25 ปีล้มลุกคลุกคลานมาตลอด
สาเหตุที่ต้องใช้ทางเลือกในการยุติการทำงาน
ปัญหา 25 ปี จุดสำคัญมาจากเรื่องทุนทรัพย์ที่จะใช้ดำเนินกิจกรรมต่อ ในหลายปีที่ผ่านมาเงินรายจ่ายมากกว่าเงินรายได้ และเราไม่เอาเงินฝากประจำจากผู้บริจาค ที่มีเงินรวมจากกองทุนรวมเป็นเงินฝากประจำ 11 ล้านบาทที่มาจากเงินกองทุน 3 ล้านบาท เงินบริจาคของโมตาลา 4 ล้านบาทและอีกส่วนหนึ่งที่ยังพอมีดอกเบี้ยให้นำมาใช้จ่ายได้บ้าง และตอนนี้มีเงินในบัญชีออมทรัพย์ไม่ถึง 1 ล้านบาท กับมีเงินทุนจดทะเบียน 5 แสนบาท แต่ค่าใช้จ่ายทั้งค่ารักษาช้าง 5 เชือก และค่าบุคลากรอีก 10 คนแทบจะไม่พอ
ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนเท่าไหร่
ปัจจุบันเรามีค่าใช้จ่ายตกเดือนละ ประมาณ 1 ล้านบาท และรวมเงินเจ้าหน้าที่ 10 คนค่าใช้จ่ายเป็นค่ารักษาช้างประจำ เดิมเคยมี 9 เหลือ 5 ตัว และเป็นช้างพิการ 2 เชือก คือ โมชะ และโมตาล่า และเจ้าบุญมี และพังอ้วน และมีพลายโบโบ้ ที่ป่วยเป็นโรคทางสมอง รวมทั้งป่วยที่มารักษาและกลับไป
จะทำอย่างไรต่อกับอนาคต
ตอนนี้รอว่าคณะกรรมการบริหารฯ จะมีคำตอบอย่างไร ต้องรอว่าจะนัดประชุมกันเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ ยอมรับว่าเสียใจถ้าต้องยุติกิจการมูลนิธิฯ เพราะทุกวันนี้เหมือนต่อลมหายใจวันต่อวันแล้ว เราฐานะกรรมการบริหาร ไม่เห็นทางออกอะไร ถ้าจะก้าวไปพ้นปีนี้ และหากปิดตัวเงินทุกบาทในกองทุนทรัพย์สินจะตกเป็นของมูลนิธิพิทักษ์เขาใหญ่ ตามที่มีระเบียบไว้
สำหรับในปี 2560 นี้ เป็นปีที่มูลนิธิฯ ครบรอบปีที่ 25 ของการก่อตั้ง การต่อสู้ให้มีกฎหมายที่เหมาะสมสำหรับ “ช้าง” ตั้งแต่ปี 2536 จนขณะนี้มี “ร่าง” กฎหมาย “ช้าง” แล้ว โรงพยาบาลช้างที่มูลนิธิเพื่อนช้างสร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของโลก รักษาช้างป่วย ช้างเจ็บ ดูแลแม่ช้าง (รอคลอด) เป็นจำนวนกว่า 794 ราย ในโครงการสัตวแพทย์สัญจร 2,799 ราย ช้างป่วยนอกขอรับยาและคำแนะนำ 1,055 ราย รวมกว่า 4,651 ราย