ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

WHO ชมไทยปฏิรูปหลักสูตร ผลิต “หมอ-พยาบาล” ก้าวหน้า

สังคม
27 มี.ค. 60
21:16
461
Logo Thai PBS
WHO ชมไทยปฏิรูปหลักสูตร ผลิต “หมอ-พยาบาล” ก้าวหน้า
WHO ชี้ไทยก้าวหน้ากว่าหลายประเทศ ในการปฏิรูปหลักสูตร ผลิตแพทย์-พยาบาล และกลุ่มสหวิชาชีพด้านสุขภาพ โดยเน้นใช้ชุมชนเป็นฐานการศึกษา ยกระดับสุขภาวะประชาชน และกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือ

วันนี้ (27 มี.ค.2560) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สะท้อนมุมมอง และความคาดหวังที่เป็นปลายทางของระบบสุขภาพในงานเสวนา "เชื่อมสถาบัน สานเครื่อข่าย DHS academy สู่ศตวรรษที่ 21" ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ว่า การปฏิรูปสถาบันสู่การพัฒนาการเรียนการสอนบุคลากรสุขภาพ แบบ “ทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง” จะช่วยสร้างระบบบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนบุคคลากรด้านสุขภาพ

 

ไทยยังขาดแพทย์ทั่วไป ดูแลคนในชุมชน

นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ รองประธานกรรมการ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพ (ศสช.) กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพในชุมชนส่วนใหญ่ไม่ใช่โรคที่ซับซ้อน ที่จะต้องใช้แพทย์เฉพาะทางในการรักษา และโรงเรียนแพทย์ปัจจุบันไม่ได้เชื่อมโยงไปถึงชุมชน การเข้าถึงชุมชนจะเกิดขึ้นหลังจบการศึกษาแล้ว ที่ผ่านมาเป็นการเรียนรู้แบบเป็นส่วนๆ เฉพาะโรค เฉพาะอวัยวะ ไม่ใช่การเรียนรู้แบบองค์รวม


นายแพทย์สุวิทย์ บอกอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังผลิตแพทย์ทั่วไปได้เพียงร้อยละ 10 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์เฉพาะทาง ต่างกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น หรือในยุโรป ที่แพทย์ทั่วไปจะเป็นที่ยอมรับในสังคมมากกว่า เพราะมีความใกล้ชิดกับสังคมแต่ละท้องที่ อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเรื่องสุขภาพกับคนในชุมชน มีการติดตามปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแตกต่างจากบ้านเราทุกวันนี้ที่ที่คนไข้บางคนต้องมีแพทย์เฉพาะทาง 4-5 คน ในการดูแลสุขภาพ ไปโรงพยาบาลครั้งหนึ่งก็ต้องใช้เวลาทั้งวัน อย่างไรก็ตาม การกระจายนักเรียนแพทย์ไปสู่ต่างจังหวัด เหมือนเป็นการกระจายความเจริญด้านการแพทย์ไปสู่ชนบท ซึ่งเป็นการวางระบบบริการสุขภาพในระยะยาว

นำร่องส่งแพทย์เข้าถึงกลุ่มชาติพันธ์ุ

 

พล.ท.ศ.เกียรติคุณ นพ.นพดล วรอุไร คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า แนวทางการเรียนการสอนของสำนักแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เน้นความเป็นเวชศาสตร์ชุมชน พัฒนาสุขภาพชุมชน บัณฑิตแพทย์จบออกมามีใจรักชุมชน ซึ่งจะเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนแพทย์ในชนบท ระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วน เพื่อใช้ในการดำเนินการและร่วมกันบริหารจัดการในการผลิตแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ


"กลุ่มนักศึกษาแพทย์จะได้เรียนรู้เรื่องโรคบางชนิดที่ไม่เคยพบในไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีคนต่างชาติเดินทางข้ามพรมแดนเข้ามาในจังหวัดเชียงราย ซึ่งบางส่วนนำโรคระบาดมาจากฝั่งเมียนมา ลาว และเข้ารักษาตัวที่ อ.เชียงแสน และ อ.แม่สาย ขณะที่นักศึกษาจำนวนมากที่อยากมาเรียนแพทย์นั้นต้องการสร้างความมั่นคงให้ชีวิตมากกว่าที่จะคิดทำเพื่อประชาชน ชุมชน เพราะฉะนั้นหลักสูตรการเรียนการสอนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการบ่มเพาะนักศึกษาแพทย์ให้มีใจบริการ เป็นแพทย์ที่มีคุณภาพ มีใจรักคนในชุมชน" พล.ท.ศ.เกียรติคุณ นพ.นพดล กล่าว

 

ขณะที่ ทพ.วีระ อิสระธานันท์ หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบลแม่จัน จ.เชียงราย กล่าวว่าการปฏิรูปการเรียนรู้ในแบบทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ โดยเฉพาะกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้น้อยกว่าประชาชนทั่วไป ว่า จากการทำงานร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตพื้นที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ที่มีสัดส่วนประชากรถึงร้อยละ 30 มานาน ในจำนวนนี้มีทั้งกลุ่มที่มีสัญชาติ มีบัตรประชาชน และยังไม่มีบัตรประชาชน พบว่ากลุ่มชาติพันธุ์มีปัญหาทันตกรรมค่อนข้างมาก การลงพื้นที่ของแพทย์ นักศึกษาแพทย์ และกลุ่มสหวิชาชีพ ตามโรงเรียนต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล อยู่บนภูเขา และช่วยรักษาโดยไม่เลือกว่าใครมีบัตรประชาชน หรือมีสัญชาติ ดังนั้น การเรียนรู้การรักษาจากชุมชนในพื้นที่จริงจะทำให้นักศึกษาเข้าใจในเบื้องหลังคนที่มารักษาและรู้สาเหตุของปัญหาเหล่านั้น

 

WHO ชมไทยผลิตแพทย์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน

นพ.แดเนียล เอ. เคอร์เทสช์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำประเทศเทศไทย กล่าวว่า การปฏิรูประบบสาธารณสุข ไม่ใช่แค่การเน้นเพิ่มจำนวนบุคคลากรเท่านั้น แต่ต้องสร้างบุคคลากรที่เข้าใจเรื่องชุมชนด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยประเทศไทยถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจังและมีความก้าวหน้ากว่าหลายๆ ประเทศ เพราะมีการวางระบบต่างๆโดยเฉพาะในเรื่องการศึกษา เพื่อเดินหน้าประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม WHO พร้อมให้การสนับสนุน และเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องของการพัฒนาบุคคลากรสุขภาพของไทยให้ต่างประเทศทราบต่อไป
 

ชี้"หมอพื้นบ้าน"จำเป็นต่อชุมชน

นายชัชวาลย์ หลี่ยา สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย กล่าวว่า หมอพื้นบ้านยังเป็นที่พึ่งพิงของคนในชุมชน เพราะมีความรู้ วิธีการรักษาที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคน นอกจากนี้ ในการรักษาโรคต่างๆ ยังเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น ชาวละหู่เมื่อไม่สบายก็จะทำพิธีกรรม หรือหายาสมุนไพรมารักษากันเองในหมู่บ้าน

 

 

การเข้าถึงการรักษากับโรงพยาบาลรัฐบาล ปัจจุบันมีการเข้าถึงได้มากขึ้น เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ได้บัตรประชาชน ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลได้มากขึ้นปัญหาเรื่องสุขภาพก็ถือว่าดีขึ้นมาก
แต่บางพื้นที่ "ภาษา" ยังเป็นอุปสรรคในการสื่อสารของผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะชาวบ้านสูงอายุส่วนใหญ่พูดภาษาไทยไม่ได้ ต้องใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสาร ซึ่งมีทั้งภาษาจีน ภาษาลาหู่ เป็นต้น เพราะฉะนั้นเมื่อมีอาการป่วยการสื่อสารก็เป็นสิ่งที่ลำบาก


อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยสมุนไพร และหมอพื้นบ้าน ก็ไม่สามารถที่จะช่วยการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพยังจำเป็นที่จะต้องใช้บริการสุขภาพของหน่วยงานของรัฐ เช่น โรงพยาบาลสาธารณสุขประจำตำบล เพราะจะได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่า ในบางโรคที่เพียงแค่สมุนไพรก็ไม่สามารถที่จะช่วยรักษาได้ดีเท่าแพทย์แผนปัจจุบัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง