ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทางออกปฏิบัติการ "ไล่รื้อชุมชนเมือง"103 แห่ง

สังคม
21 เม.ย. 60
12:18
1,426
Logo Thai PBS
ทางออกปฏิบัติการ "ไล่รื้อชุมชนเมือง"103 แห่ง
"บุญเลิศ วิเศษปรีชา"นักวิชาการด้านสังคมวิทยาและมนุษวิทยา มธ. เสนอทางออกแก้ปัญหาไล่รื้อชุมชนในเขตเมือง 103 ชุมชนกว่า 1 หมื่นครัวเรือน ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเพิ่มมูลค่าที่ดิน

สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดจากการไล่รื้อชุมชนในเมือง ยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ จากข้อมูลของเครือข่ายสลัมสี่ภาคระบุว่า ปัจจุบันมีชุมชนที่อยู่ในสถานการณ์ไล่รื้อมากถึง 103 ชุมชน มี10,299 ครัวเรือน โดยสาเหตุของการถูกไล่รื้อมาจากทั้งมีการก่อสร้างโครงการพัฒนาของรัฐ และสาเหตุจากเอกชนเจ้าของที่ดินที่ชุมชนอาศัยอยู่ต้องการนำที่ดินผืนนั้นไปพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

ทีมข่าวนโยบายสาธารณะ ได้สัมภาษณ์ผู้ช่วยศาสตราจารย์  คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การที่เจ้าของที่ดินต้องการพัฒนาที่ดินให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยใช้สิทธิตามกฎหมายฟ้องคนที่อยู่อาศัยมาก่อน ในทางวิชาการด้านมนุษยวิทยาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Gentrification หรือการทำให้ที่ดินกลายเป็นย่านของคนมีฐานะ แต่สิ่งที่ถูกพูดถึงน้อยมากคือ คุณค่าในทางประวัติศาสตร์จากคนที่เคยใช้ประโยชน์ในที่ดินผืนนั้น

 

 

“ที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาเรื่องชุมชนที่ถูกไล่รื้อ วางอยู่บนฐานคิดว่า เจ้าของที่ดินมีสิทธิบนที่ดินโดยสมบูรณ์ฝ่ายเดียว ความรู้สึกถึงการมีส่วนร่วม การให้โอกาสคนที่เคยอยู่บนที่ดินนั้นมามีส่วนร่วมด้วยจึงมีไม่มาก นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ คิดตามกฎหมายแบบกรรมสิทธิที่ดิน เจ้าของที่ดินก็มีสิทธิทำอะไรก็ได้ และทำให้คนที่อยู่อาศัยเดิมมีสถานะเป็นผู้เช่าที่ถูกบอกเลิกสัญญาเช่าเมื่อไหร่ก็ได้และถูกไล่ออก ประเด็นสำคัญคือ เราคิดเรื่องกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองว่ามิติของประวัติศาสตร์ที่ชุมชนอยู่เกิดขึ้นมาได้อย่างไร มองว่าการแก้ไขปัญหาที่มีประโยชน์ร่วมกัน ผมคิดว่าไม่ใช่แค่ชุมชนอย่างเดียวที่จะได้ประโยชน์จากการรองรับ รวมถึงเจ้าของที่ที่จะนำที่ดินไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการมีส่วนร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญเลิศ ยกตัวอย่างการแก้ไขนี้ของต่างประเทศ เช่น การที่เจ้าของที่ดินแจ้งล่วงหน้าแบบระยะยาวกับชุมชนที่ต้องถูกรื้อย้าย ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ขณะที่ชุมชนก็มีสิทธิต่อรองและรู้ว่าพวกเขาจะถูกย้ายออกไปเมื่อไหร่และย้ายไปเมื่อไหร่ ทำให้การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องนี้ของต่างประเทศประสบความสำเร็จ

 

 

“ในต่างประเทศจะมีการพูดกัน เช่น การ Notice ในระยะยาวที่จะให้ผู้อยู่อาศัยได้ทราบว่าก่อนที่เขาจะถูกรื้อย้าย เขาควรจะมีแผนในการรองรับ ถ้าเจ้าของที่ดินจะขายที่ดิน เจ้าของที่ดินมาเสนอให้กับคนที่อยู่อาศัยเดิมว่าเขามีสิทธิที่จะต่อรองอะไรได้บ้าง ส่วนใหญ่ที่เราทำๆ กันมาก็มักจะเป็นลักษณะที่ว่า เจ้าของที่ดินจะไปขายที่ดินก่อน แล้วคนซื้อที่ดินก็จะบอกว่าซื้อแล้ว ก็จะไล่คนที่อยู่ออกทันที ดังนั้น ถ้าเรามีเงื่อนไขว่า ก่อนที่จะขายให้มาบอกชุมชนก่อน ซึ่งเขามีปฏิสัมพันธ์ต่อกันตามที่มีสัญญาเช่า ก็จะทำให้ตรงนี้แก้ไขปัญหาไปได้เปลาะหนึ่ง”


ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญเลิศ ย้ำว่า การแก้ปัญหาแบบนี้ นอกจากทั้งสองฝ่ายจะไม่เสียเวลาและค่าใช้จ่ายไปกับการฟ้องร้องดำเนินคดีแล้วนั้น ยังสามารถวางแผนอนาคตบนความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้ และที่สำคัญการไม่ทำให้สังคมถูกผลักเข้าสู่ความขัดแย้งที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำ

“งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ ผลกระทบจะไม่ได้ตกเฉพาะคนจนอย่างเดียว คนรวยจะได้รับผลกระทบจากสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ มีความขัดแย้งทางสังคมสูงไปด้วย ถ้าคุณอยู่ในสังคมที่มีความตึงเครียด มากๆ คุณไปส่งลูกไปโรงเรียนก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับลูก อันนั้นคือสังคมที่ไม่น่าอยู่ ถึงจุดหนึ่งแล้วเงินมันซื้อไม่ได้ เราต้องการสังคมที่ทุกคนมีความสุขพอๆ กัน และไม่เกิดความขัดแย้งกับเรา เราไม่ควรผลักสังคมให้ไปอยู่ในทิศทางนั้น”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง