วานนี้ (24 เม.ย.2560) พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวคิดการจ่ายเงินนำจับให้ผู้ที่ส่งหลักฐานให้เจ้าหน้าที่ เพื่อนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดจอดหรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์บนทางเท้า
โดยบอกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาหลักเกณฑ์และข้อกฎหมาย ตามมาตรา 48 วรรค 3 พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 เพื่อจ่ายเป็นค่านำจับจำนวนครึ่งหนึ่งของค่าปรับ ซึ่งค่าปรับสูงสุดจะไม่เกิน 5,000 บาท คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ใน 1-2 สัปดาห์ หรือช่วงต้นเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งรองผู้ว่าฯ กทม.เชื่อว่าประชาชนจะช่วยเป็นหูเป็นตามากขึ้น
นอกจากเรื่องการห้ามจอดหรือขับรถบนทางเท้าแล้ว พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ฉบับนี้ ยังกำหนดให้ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับเงินรางวัลนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับในกรณีอื่นๆด้วย เช่น ปล่อยสัตว์อุจจาระหน้าบ้านแล้วไม่เก็บ ค่าปรับ 500 บาท พ่นสีเขียนกำแพง ค่าปรับ 5,000 บาท หรือรถบรรทุกหิน ทราย ดินร่วงบนถนน ค่าปรับ 3,000 บาท
นายณัฐนันท์ กัลยาศิริ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เมื่อประชาชนพบการกระทำผิดส่งเบาะแสไปยังเจ้าหน้าที่เทศกิจ หรือศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กทม.1555 ได้ทันที โดยใช้หลักฐาน อาทิ รูป หรือคลิปวิดีโอที่มองเห็นเลขทะเบียนรถชัดเจน
หรือหากเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ต้องเห็นหมายเลขเสื้อและวินที่สังกัด เพื่อนำไปเป็นหลักฐานให้เจ้าหน้าที่ และเมื่อปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดแล้ว เขตจะทำหนังสือไปยังประชาชนที่แจ้งข้อมูลมาให้เพื่อรับเงินนำจับครึ่งหนึ่งของค่าปรับต่อไป
ส่วนการจัดระเบียบผู้ค้าที่ขายของบนทางเท้า รองผู้ว่า กทม.กล่าวว่า การจัดระเบียบเป็นถนนสตรีทฟู้ด กทม.จะส่งเสริมในถนนเยาวราชและข้าวสารเพียงเท่านั้น
ส่วนในถนนทางเท้าบริเวณอื่นๆ ที่ กทม.ได้ทำการจัดระเบียบไปแล้ว เช่น ปากคลองตลาด คลองโอ่งอ่างนั้น ถือเป็นจุดที่สร้างปัญหาความเดือดร้อนต่อสังคมซึ่งเมื่อมีการยกเลิกการค้าไปแล้วผู้ค้าจะไม่สามารถกลับมาตั้งวางแผงค้าได้อย่างเด็ดขาด โดยหากมีผู้ค้าฝ่าฝืนก็ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเข้าจัดการอย่างเด็ดขาด