ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

20 ปีเขื่อนปากมูล การต่อสู้มาราธอนของ “กบฏคนจน” ยังไร้วี่แววชนะ

4 ส.ค. 54
06:56
86
Logo Thai PBS
20 ปีเขื่อนปากมูล การต่อสู้มาราธอนของ “กบฏคนจน” ยังไร้วี่แววชนะ

จากข้อหา “บุกรุกที่ดิน ซ่องสุ่มโจร ก่อความไม่สงบที่เป็นภัยต่อความมั่นคง จนถึงข้อหากบฎ” ล้วนแต่เป็นข้อหาที่แกนนำชาวบ้านเขื่อนปากมูลถูกดำเนินคดีจากการต่อสู้ที่ยาวนานและกินเวลากว่า 20 ปีมาแล้ว กลายเป็นกรณีประวัติศาสตร์ และจนถึงวันนี้คดีและการต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด

นางสมปอง เวียงจันทร์ กรรมการปฏิรูป หนึ่งในแกนนำสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล และถูกดำเนินคดีในข้อหาข้างต้นเหล่านี้ ได้เปิดใจระบายความอัดอั้นในการต่อสู้ที่ยาวนาน จนชีวิตล่วงเลยวัย 60 ปีมาแล้ว ต่อเวทีสาธารณะคดีคนจนครั้งที่ 2 ว่าด้วยการสร้างความยุติธรรมให้กับผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม ภายใต้หัวข้อ “คนจนไม่ใช่อาชญากร ความจนไม่ใช่อาชญากรรม” ซึ่งจัดโดยสำนักงานปฏิรูป

นางสมปอง เล่าถึงที่มาที่ไปของจุดเริ่มต้นการถูกดำเนินคดีว่า เกิดจากการคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี ก่อนปี 2533 ที่ชาวบ้านในพื้นที่ต่างรวมตัวกันเข้ายื่นข้อเสนอต่อทางภาครัฐ เรียกร้องขอให้หยุดก่อสร้างและให้มีการศึกษาผลกระทบก่อน ปรากฎว่าเสียงของพวกเราไม่ได้รับความสนใจใดๆ จากรัฐ และโครงการยังถูกก่อสร้างและเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้ชาวบ้านในพื้นที่ต้องรวมตัวกันเพื่อเข้ายึดแนวสันเขื่อนที่ขณะนั้นอยู่ระหว่างการระเบิดแก่ง

แม้ว่าเราจะพยายามเจรจาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้หยุดก่อสร้างลงก่อน แต่ก็ไม่มีใครรับฟัง ในที่สุดพวกเราต้องนำชาวบ้านกว่า 300 คน เข้าไปยึดบริเวณหลุมระเบิดที่เป็นมาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อยุติการก่อสร้าง จนนำไปสู่จุดเริ่มต้นของการถูกดำเนินคดีและจับตัวแกนนำคัดค้านตามมา รวมไปถึงความขัดแย้งในพื้นที่

ไม่เพียงเท่านั้น ที่ผ่านมายังมีเจ้าหน้าที่รัฐพยายามใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของชาวบ้านอีก ทำให้แกนนำขณะนั้นซึ่งมี น.ส.วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ร่วมอยู่ด้วย ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐ แต่กลับถูกจับกุมและแจ้งข้อหาบุกรุกแทน ยังไม่นับการรวมตัวจัดตั้ง “หมู่บ้านแม่มูลมั่นยืน” ที่มีชาวบ้านเข้าไปตั้งรกรากอีก 700 หลังคาเรือน เพื่อยึดแนวสันเขื่อนในเวลาต่อมา และมีการขยายเครือข่ายเพิ่มเป็น 6,000 ครองครัว ที่ออกมาให้การสนับสนุนการคัดค้านการสร้างเขื่อนและให้มีการศึกษาผลกระทบก่อน จนเกิดการข่มขู่และตั้งขอหาเพิ่มเติมอีกกับแกนนำอีก และได้มีการจับกุม 14 แกนนำเขื่อนปากมูลทั้งในคดีก่อกบฎ คดีซ่องสุ่มโจร และคดีทำให้เกิดความเสียหายต่อภาครัฐ ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรมต่อพวกเราทั้งสิ้น บีบคั้นให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง 

นางสมปอง เล่าว่า เรื่องนี้อยากถามว่าพวกเราทำผิดอะไร เราเพียงแต่เคลื่อนไหวเพื่อพยายามปกป้องวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่มีมาแต่เดิมเท่านั้น เราไม่ได้ลักขโมยของหรือทำร้ายใคร ไม่เคยทำให้ใครเดือนร้อน แต่กลับถูกตั้งข้อหาที่ร้ายแรง ทั้งๆ ที่พวกเราเป็นฝ่ายถูกรุกล้ำความเป็นอยู่ก่อน ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าชาวบ้านที่ปากมูลส่วนใหญ่ต่างทำอาชีพหาปลา แน่นอน...ไม่ว่าอย่างไร การสร้างเขื่อนย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่ออาชีพที่เราทำอยู่แน่ เพราะการสร้างเขื่อนเป็นการขวางปลาในแม่น้ำโขงไม่ให้เข้ามาวางไข่ การออกมาปกป้องจึงผิดด้วยหรือ…? 

และอยากถามกลับว่าหากไม่มีปลาให้จับ ไม่มีอาชีพให้ทำแล้วใครจะรับผิดชอบ แม้ว่าพวกเราจะเสนอขอให้มีการทำวิจัยศึกษาผลกระทบก่อน แต่กลับไม่มีใครฟัง เป็นเหตุให้พวกเราตัดสินใจกันว่าจะต้องคัดค้านจนถึงที่สุดและเลือก “ขอยอมตายวันนี้ ดีกว่าตายทั้งเป็นในวันข้างหน้า”

จากวันนั้น...จนถึงวันนี้ นางสมปอง บอกว่า มีการดำเนินคดีกับแกนนำเขื่อนปากมูล 4 ข้อหา คือ 1.บุกรุกสถานที่ราชการ 2.มีการซ่องสุ่มโจร 3.ก่อความไม่สงบ ทำให้ประเทศเกิดความไม่มั่นคง และ 4.ทำให้ภาครัฐเกิดความเสียหาย โดยในข้อหาเหล่านี้ หมดอายุความไปแล้ว 3 ข้อหา เหลือเพียงข้อหาซ่องสุ่มโจรเท่านั้น ที่ยังถูกดำเนินคดีอยู่ เนื่องจากมีอายุความถึง 15 ปี ขณะที่ข้อกล่าวหาอื่นๆ มีอายุความเพียง 10 ปี โดยตนเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกข้อกล่าวหาซ่องสุ่มโจรด้วย 

“ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าถูกข้อหาซ่องสุ่มโจรได้อย่างไร และจากที่ทนายไปค้นหมายจับยังพบว่า แม่สมปองได้กลายเป็นหัวหน้าโจรไปแล้วด้วยซ้ำ ไม่เข้าใจว่าเป็นแบบนั้นไปได้ยังไง เพราะก่อนปี 2537 ที่จะถูกหมายจับนั้น ตัวเองก็ไม่เคยไปขึ้นเวทีไหนเลย เพียงแต่มีคนซัดทอดมาถึงก็มีการตั้งข้อหากับตนซะแล้ว” นางสมปอง กล่าว

นางสมปอง บอกต่อว่า การตั้งข้อหาข้างต้นนี้ ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องตลกและไม่รู้สึกังวลหรือสะทกสะท้าน เพราะเป็นการตั้งข้อกล่าวหาแบบลอยๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐกันเอง ไม่ดูข้อเท็จจริงก่อน หากตนเคยมีประวัติเป็นโจรมาก่อน การตั้งข้อกล่าวหาแบบนี้ก็จะไม่ว่าอะไรเลยแม้แต่คำเดียว แต่ไม่ใช่มายัดเยียดกันแบบนี้ ถือเป็นความเลวร้ายของกระบวนการยุติธรรมบ้านเราในการตั้งข้อกล่าวหากับผู้บริสุทธิ์ เพราะที่ผ่านมาเป็นที่รู้กันดีว่า ตนเป็นแค่ชาวบ้านธรรมดาทั่วไปและยึดอาชีพหาปลามาทั้งชีวิตแค่นั้น และการออกมาก็เพื่อปกป้องทรัพยากรในผืนแผ่นดินของตัวเอง ซึ่งการกระทำเช่นนี้หากเป็นความผิดจริง สังคมก็ไม่รู้จะอยู่กันได้อย่างไร

“ขณะนี้มีหนังสือส่งมาให้เข้ามอบตัว แต่คงจะไม่ไปมอบตัว หากเห็นว่าทำผิดจริงก็ขอให้มาจับและจะไม่หนีไปไหน แต่ที่ผ่านมาตำรวจพื้นที่ก็ไม่มาจับกุม เพราะตำรวจเองก็รู้ดีว่าความจริงเป็นอย่างไร”

นางสมปอง บอกด้วยน้ำเสียงที่เน้นย้ำว่า สิ่งที่เสียใจขณะนี้คือการที่ภาครัฐยัดเยียดข้อกล่าวหาซ่องสุ่มโจรให้ น.ส.วนิดา ที่เข้าช่วยชาวบ้านในการเรียกร้องความเป็นธรรมเช่นเดียวกับตน ซ้ำยังเป็นคนกรุงเทพด้วยซ้ำ แต่ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคร้าย เสียชีวิตไปทั้งๆ ที่ข้อกล่าวหาเหล่านี้ยังค้างอยู่ เรียกว่าต้องตายในขณะที่คดีที่ยังไม่เสร็จสิ้นจากข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรมสำหรับทางออกของปัญหาเขื่อนปากมูลที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนั้น

มีงานวิจัย 7 ฉบับ ที่ดำเนินการโดยนักวิชาการ ชี้ว่าจะต้องเปิดเขื่อน 4 เดือน และปิดเขื่อน 8 เดือน สลับกันไป เพื่อให้ชาวบ้านสามารถอยู่ได้ด้วย แต่ที่ผ่านมาไม่เคยถูกปฏิบัติ แม้ว่าจะมีการยอมรับในข้อเสนอนี้ในช่วงสมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพอมารัฐบาลชุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับระบุว่าหากดำเนินการจะมีประชาชนกว่าแสนคนออกมาคัดค้าน ซึ่งเป็นเพียงแค่ข้อกล่าวอ้างที่จะไม่ปฏิบัติ เนื่องจากแนวทางข้อเสนอนี้ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์เวทีชาวบ้านในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว

 

              
การต่อสู้หลังจากนี้ นางสมปอง บอกว่า ส่วนตัวจะต่อสู้ไปเช่นนี้เรื่อยๆ และได้เดินสายไปยังเวทีภาคประชาชนต่างๆ บอกเล่าถึงปัญหาและการต่อสู้ของชาวบ้านในพื้นที่เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายพลังร่วมกับกลุ่มชาวบ้านที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากภาครัฐในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้มีจำนวนกว่า 900,000 คนแล้ว และการเข้าร่วมคณะกรรมการปฎิรูปประเทศไทยก็เป็นหนทางหนึ่งที่ทำได้

ทั้งนี้จากการต่อสู้มากว่า 20 ปี ยอมรับว่า ขณะนี้เริ่มมีบางส่วนที่เห็นใจพวกเราแล้ว และเป็นกำลังใจในการต่อสู้ให้กับพวกเราต่อไป.


ข่าวที่เกี่ยวข้อง