ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศาลยกฟ้อง "สหวิริยาฯ" ฟ้องอธิบดีกรมที่ดินกรณีเพิกถอนออก น.ส.3 ก. ทับป่าสงวนฯ

สิ่งแวดล้อม
29 ส.ค. 60
16:01
2,101
Logo Thai PBS
ศาลยกฟ้อง "สหวิริยาฯ" ฟ้องอธิบดีกรมที่ดินกรณีเพิกถอนออก น.ส.3 ก. ทับป่าสงวนฯ
ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องคดีที่ บ.สหวิริยาสตีล ฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกรณีออกคำสั่งเพิกถอนที่ดินเครืออุตสาหกรรมเหล็กสหวิริยา 52 แปลง ทับที่ป่าชายเลนคลองแม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กว่า 800 ไร่

วันนี้ (29 ส.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษาคดีที่บริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าพนักงานที่ดิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สาขาบางสะพาน กรณีที่มีคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินเมื่อปี 2553 ให้เพิกถอนและแก้ไขหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดิน (น.ส.3 ก.) 52 แปลงและเพิกถอนประกาศเรื่องการออกใบแทน น.ส.3 ก. ของสำนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาบางสะพาน

ล่าสุด ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นสมควรยกฟ้อง พิจารณาจากคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน พบว่า ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินทับซ้อนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและป่าคุ้มครองแม่รำพึง ทั้งมีการใช้หลักฐานที่เป็นเท็จ คือ นำการแจ้งครอบครอง (ส.ค.1) ซึ่งเป็นของที่ดินแปลงอื่นมาอ้างขอออกเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่พิพาท จึงเป็น น.ส.3 ก. ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 

นายอัมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ผู้รับมอบอำนาจ เผยว่าเครืออุตสาหกรรมเหล็กสหวิริยา ผู้ยื่นฟ้องคดีสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน นับแต่ศาลมีคำพิพากษา

ศาลต้องพิจารณาตามข้อมูลกรมที่ดิน ซึ่งถือได้ว่าข้อมูลค่อนข้างแน่น รวมทั้งข้อมูลหลักฐานจากชาวบางสะพานและกลุ่มอนุรักษ์เกี่ยวกับพื้นที่ป่าชายเลนและป่าสงวนที่เสนอเข้าไป จึงมั่นใจว่าการอุทธรณ์ก็จะมีผล คือ ยกฟ้องตามเดิม

ขณะที่นายสมหวัง พิมสอ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง กล่าวว่าเดิมพื้นที่ทั้ง 2 แห่ง คือ หลังท่าเรือน้ำลึก และวัดท่ามะนาวมีสภาพเป็นป่าชายเลนและพื้นที่ลุ่มน้ำเค็ม แต่ขณะนี้พื้นที่หลังท่าเรือได้มีการแปลงสภาพ มีการถมที่ และสร้างอาคาร ทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ

ส่วนวัดท่ามะนาวปัจจุบันยังมีสภาพเป็นป่าชายเลน แต่มีการบุกรุกตัดถนนผ่านเข้าไปเป็นระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร ทำให้เกิดการขวางทางน้ำไหลลงสู่ทะเล ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมหนักมาแล้ว 2 ครั้ง คือ เดือนพฤศจิกายน 2548 และเดือนมกราคม 2560 ที่ผ่านมา หลายร้อยหลังคาเรือน

"หลังจากศาลมีคำสั่งยกฟ้อง ชาวบ้านดีใจกันมากเมื่อที่ดินกลับมาเป็นของรัฐ เป็นที่ดินสาธารณะ ขั้นตอนต่อไปคงจะเป็นการพูดคุยกันระหว่างชาวบ้านและหน่วยงานรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการบุกรุกพื้นที่ดังกล่าว” นายสมหวัง ทิ้งท้าย

 

น.ส.ผานิต ฆาตนาค ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง