ชาวบ้านบ้านตะคร้อใต้ ต.บุฝ้าย อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านถากผิวไม้กฤษณาและใช้น้ำหมักทาไว้ประมาณ 1 ปี ต้นกฤษณาก็จะหลั่งสารเรซิ่นออกมา จากนั้นนำไปกลั่นเป็นหัวน้ำหอม
กัญญาพัชร คำภา ประธานกลุ่มเพาะปลูกและกลั่นน้ำมันไม้กฤษณาเพื่อการส่งออก กล่าวว่า น้ำมันกฤษณาเป็นสินค้าส่งออกเกือบ 100 เปอร์เซ็น ซึ่งมีส่วนน้อยที่ใช้ในประเทศไทย แต่กลุ่มเกษตรกรของเราไม่มีศักยภาพมากพอที่จะส่งออกได้โดยตรง จึงต้องมีพ่อค้าคนกลางมาซื้อในพื้นที่และมีการกดราคา ทำให้ได้ราคาที่ไม่เหมาะสมตามที่ควรจะได้ ขณะที่การส่งออก ส่วนมากจะส่งไปทางตะวันออกกลางอย่างดูไบ ซึ่งน้ำมันกฤษณาเป็นผลิตภัณฑ์ที่คนรวยใช้กัน เพราะมีราคาจะแพงมากในต่างประเทศ แต่หากจำหน่ายในประเทศจะได้ราคาต่ำ
สมาชิกกลุ่มเพาะปลูกและกลั่นน้ำมันไม้กฤษณาเพื่อการส่งออก ยังระบุอีกว่า อยากให้รัฐสนับสนุนการปลูกไม้กฤาณาให้ต่อเนื่อง เพราะหากหมดล็อตที่ปลูกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ชาวบ้านในพื้นที่จะไม่มีไม้กฤษณาเพื่อนำมาประกอบอาชีพ
สำหรับประชาชนในพื้นที่ อ.ประจันตคาม ที่มีพื้นที่ติดกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เคยดำรงชีพจากการหาของป่าและไม้กฤษณาในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ตลอดมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ จนเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วที่รัฐบาลมีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้กฤษณาในพื้นที่ของตัวเอง
ทั้งนี้ ไม้กฤษณาและน้ำมันกฤษณาจัดเป็นเครื่องหอมที่มีค่าและหายาก เนื่องจากปลูกได้เฉพาะประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ไทย อินโดนีเซียและเวียดนาม ซึ่งประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกไม้กฤษณาสำคัญๆของโลก จึงทำให้ไม้กฤษณาเป็นไม้หวงห้ามและไม่สามารถทำในที่ป่าชุมชนและป่าสงวนทั่วไปได้ แต่สามารถทำได้เมื่อปลูกในพื้นที่ของตัวเองและต้องมีใบอนุญาต