วันนี้ (28 พ.ย.2560) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี สั่งเจ้าหน้าที่ทบทวนการแจ้งข้อกล่าวหา แกนนำกลุ่มเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่กระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่เมื่อบ่ายวานนี้ (27 พ.ย.) พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข โดยมีเนื้อหาดังนี้
แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
กรณีการสลายการชุมนุมและจับกุมกลุ่มแกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าเทพา
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอแสดงความห่วงกังวลต่อกรณีการเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมแกนนำ “เครือข่ายประชาชนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ระหว่างจัดกิจกรรมเดินเท้ารณรงค์คัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา เพื่อเข้ายื่นหนังสือคัดค้าน โครงการฯ ต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อเย็นวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างสันติวิธี โดยเคารพและยึดมั่นต่อหลักสิทธิมนุษยชน
โครงการโรงไฟฟ้าเทพา เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลัก ซึ่งมีข้อท้วงติงว่าอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างรุนแรงและกว้างขวาง ซึ่ง กสม. ได้ดำเนินการตรวจสอบและอยู่ระหว่างการจัดทำรายงาน เบื้องต้นพบปัญหาการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร การจัดกระบวนการการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบกระทบโดยตรง อันเป็นเหตุของการเดินเท้าเพื่อเข้ายื่นหนังสือคัดค้านโครงการฯ ต่อนายกรัฐมนตรี
ในชั้นนี้ กสม. เห็นว่าการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวยังอยู่ในขอบเขตของการใช้สิทธิในการแสดงความเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนอย่างสงบตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม
กสม. จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทบทวนการแจ้งข้อกล่าวหา แก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และดำเนินการทางกฎหมายอย่างรอบคอบบนพื้นฐานของสิทธิและเสรีภาพของประชาชนซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และเปิดโอกาสให้เครือข่ายฯ ได้เข้าพบเพื่อนำเสนอข้อห่วงใยและข้อเสนอในการพัฒนาโครงการที่ยั่งยืนต่อรัฐบาลโดยสงบและปราศจากการขัดขวาง
ทั้งนี้ ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานเจ้าของโครงการยึดมั่นในแนวปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ภายใต้หลักการ เคารพ คุ้มครอง และเยียวยา รวมทั้งคำประกาศวาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน 2560 เป็นแนวทางในการดำเนินโครงการด้วย โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
28 พ.ย.2560