นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ประเทศไทยไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาแล้ว 3 ปี ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้ปรับขึ้น 310 บาท เพียง 30 จังหวัด ดังนั้นจึงจะมีการนัดประชุมคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อมีมติ ไม่เกินวันที่ 15 ม.ค.นี้ โดยอาจจะปรับเพิ่มมากกว่า 15 บาท แต่ไม่ปรับขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ
สวนทางกับข้อเรียกร้องของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ที่ให้ปรับขึ้น 360 บาทเท่ากันทั่วประเทศ เนื่องจากสำรวจพบว่า เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน และช่วยลดปัญหาแรงงานกระจุกตัวในเมืองใหญ่ได้
ขณะที่ผู้ประกอบเอสเอ็มอีกว่าร้อยละ 80 ของภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด จะได้รับผลกระทบหากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่า 15 บาท หรือปรับเพิ่มร้อยละ 5 ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 1.6
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย ระบุว่า จะส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ สิ่งทอและอาหาร ดังนั้นอัตราที่เหมาะสมควรสอดคล้องกับความสามารถนายจ้างและอัตราเงินเฟ้อ
สำหรับกรณีที่รัฐบาลเมียนมาประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 33 หรือประมาณวันละ 4,800 จ๊าด หรือ 115 บาทต่อวันนั้น เชื่อว่าจะไม่ส่งผลให้แรงงานเมียนมากลับประเทศ เพราะค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยสูงกว่าเมียนมา
นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ระบุว่า ตามหลักการของ คสรท.ยืนยันชัดเจนว่าจะต้องปรับขึ้นค่าจ้าง 360 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ส่วนจะให้ปรับสูงขึ้นกว่าค่าจ้างขั้นต่ำยังไงก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการของแต่ละบริษัทไป
ลูกจ้างร้านขายอาหารย่านดอนเมือง ระบุว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ควรต่ำกว่า 500 บาท เพราะราคาสินค้าสูงขึ้น ซึ่งการซื้ออาหารปรุงสำเร็จนอกบ้านแต่ละครั้งอยู่ที่มื้อละ 200 บาท ต่อสมาชิก 4 คนในครอบครัว แต่หากซื้ออาหารสดมาทำเองอยู่ที่ 500 บาทต่อวัน แม้จะขึ้นค่าแรงมาอยู่วันละ 325 บาทก็ไม่พอใช้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีเฮ! ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2-15 บาทสิ้นเดือนม.ค.นี้