วันนี้ (29 ม.ค.2561) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า วันที่ 1 ก.พ.นี้ การบังคับใช้มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งบริเวณชายหาด "ชายหาดปลอดบุหรี่" จะมีผลอย่างเป็นทางการแล้ว โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 ประกอบมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 นำร่องในชายหาด 24 พื้นที่ รวม 15 จังหวัดชายฝั่งทั่วประเทศ
เนื่องจากชายหาดของไทยเป็นแหล่งสะสมก้นบุหรี่จำนวนมาก จึงควรจัดระเบียบการงดสูบ ทิ้งก้นบุหรี่ และขยะบนชายหาด เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงการใช้ประโยชน์ร่วมกันและให้ชายหาดมีอากาศบริสุทธิ์ไร้ควันบุหรี่ หลังช่วง 90 วันก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ได้เร่งประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ ร้านค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว
สำหรับการกำหนดบทลงโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ออกตามมาตรา 17 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เนื่องจากก้นบุหรี่เป็นขยะที่พบมากที่สุดบนชายหาด มีสารพิษปนเปื้อนลงสู่ทะเลและใช้เวลาย่อยสลายยาวนาน ที่สำคัญซองและก้นบุหรี่มีปริมาณ 1 ใน 3 ของขยะทั้งหมดของชายทะเลและชายหาด จึงต้องเคร่งครัดการจัดการขยะทะเลด้วยโครงการชายหาดปลอดบุหรี่
ทั้งนี้ ทช.พบขยะประเภทก้นบุหรี่มากที่สุด 5 พื้นที่ คือ หาดชลาทัศน์ จ.สงขลา พบก้นบุหรี่ 177,000 ชิ้น ระยะทางสำรวจ 2.2 กิโลเมตร คิดเป็น 3.56 ชิ้นต่อตารางเมตร, หาดแม่พิมพ์ จ.ระยอง พบก้นบุหรี่ 112,470 ชิ้น ระยะทางสำรวจ 3.2 กิโลเมตร คิดเป็น 2.30 ชิ้นต่อตารางเมตร, หาดบางแสน จ.ชลบุรี พบก้นบุหรี่ 106,408 ชิ้น ระยะทางสำรวจ 3.8 กิโลเมตร คิดเป็น 0.62 ชิ้นต่อตารางเมตร ,หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต พบก้นบุหรี่ 101,000 ชิ้น ระยะทางสำรวจ 2.5 กิโลเมตร คิดเป็น 0.76 ชิ้นต่อตารางเมตร และหาดทรายรี จ.ชุมพร พบก้นบุหรี่ 52,378 ชิ้น ระยะทางสำรวจ 1.05 กิโลเมตร คิดเป็น 1.05 ชิ้นต่อตารางเมตร