กรณีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยอนุญาตให้มีการนำเข้าปลาตาเดียวจากจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศแรก หลังจากเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ รั่วไหลเมื่อ 7 ปีก่อน ซึ่งเมื่อบ่ายที่ผ่านมา นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรืออย.พร้อมด้วยนางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง ออกมาแถลงข่าวยืนยันความปลอดภัยของปลา
วันนี้ (6 มี.ค.2561) น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ไม่เชื่อถือการแถลงข่าวของทั้งสองหน่วยงานเนื่องจากกรมประมงยอมรับเองว่า ไม่มีการตรวจซ้ำที่ด่าน เป็นการเชื่อข้อมูลใบรับรองจากผู้นำเข้าเท่านั้น ดังนั้นทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องให้มีการตรวจซ้ำเพื่อยืนยันความปลอดภัยที่จะมีต่อผู้บริโภคในล็อตที่เพิ่งนำเข้า และขอให้เปิดเผยชื่อร้านอาหารทั้ง 12 ร้าน ชะลอการจำหน่ายปลาจนกว่าจะมีการตรวจซ้ำจากหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจากทางการไทย
ขอเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกระทรวงเกษตรเปิดเผยใบรับรองการนำเข้าปลาตาเดียว พร้อมทั้งให้เปิดเผยรายชื่อร้านอาหาร 12 นำเข้าปลาจากฟุกุชิมะเพื่อจำหน่าย เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภค และเรียกร้องให้ร้านอาหารทั้งหมดชะลอการใช้ปลาที่นำข้าวจนกว่าจะมีการตรวจสอบความปลอดภัยซ้ำจากหน่วยงานในประเทศไทย และให้หยุดการนำเข้าล็อตอื่นๆ
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนถึงปัญหาที่องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคย้ำมาตลอดคือ การที่ อย.ถ่ายโอนอำนาจหน้าที่การตรวจอาหารนำเข้า 7 พิกัดไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อใช้เป็นอำนาจการต่อรองทางการค้ากับประเทศคู่ค้า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 59 จากแรงผลักดันของธุรกิจอาหารส่งออก
“ก่อนหน้านี้ อย.ตรวจสอบอาหารนำเข้ามาโดยตลอด แต่เมื่อมีการถ่ายโอนกรมประมงกลับอ้างว่า ไม่มีหน้าที่กัก หรือตรวจสอบซ้ำ ให้ อย.ไปสุ่มตรวจหลังเข้าสู่ตลาดแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการทำลายมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ผ่านมาเกือบ 2 ปี อย.ไม่เคยมีการประเมินการถ่ายโอนภารกิจครั้งนี้ว่าดีหรือเลวลงอย่างไร ซึ่งสะท้อนอย่างชัดเจนจากการนำเข้าปลาจากฟุกุชิมะครั้งนี้”
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ย้ำว่า หากไม่มีการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายผู้บริโภคจะพิจารณาฟ้องให้เพิกถอนประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องการถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจสอบการนำเข้าสินค้า ฉบับวันที่ 15 พ.ค.2559
ทั้งนี้ เมื่อ 7 ก.ย.2559 รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน แถลงข่าวคัดค้านการออกประกาศโอนภารกิจดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่า มาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคจากอาหารนำเข้าและอาหารตีกลับจะถูกใช้เพื่อเจรจาต่อรองทางการค้าระหว่างประเทศ
นักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่ปี 2545 เคยมีแรงผลักดันจากภาคธุรกิจที่จะดึงงานควบคุมดูแลเรื่องอาหารทั้งหมดให้ไปอยู่ภายใต้หน่วยงานเดียว คือ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มอกช.) ภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ด้วยเหตุผลเพื่อให้เกิดการแข่งขันได้ดียิ่งขึ้นทางด้านเศรษฐกิจ โดยแทบไม่สนใจเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เช่นเดียวกับเหตุผลที่อ้างอิงในรายงานคณะทำงานของ สนช. แต่ครั้งนั้นมีการทัดทานจากหลายฝ่ายทำให้รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้ดำเนินตามเสียงเรียกร้องของกลุ่มธุรกิจอาหาร ไม่น่าเชื่อว่า จะมาสำเร็จในรัฐบาลทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลกระทบสุขภาพอนามัยของประชาชนในประเทศไทย
เช่นที่เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อครั้งวัวบ้าระบาดในอังกฤษ และไข้หวัดนกในไทย ซึ่งปัจจุบัน อังกฤษต้องทบทวนบทเรียน แยกหน่วยงานด้านความปลอดภัยอาหารออกมาจากกระทรวงด้านเศรษฐกิจ แต่ของไทย กลับไม่มีการสรุปบทเรียนทางอนุกรรมการอาหารและยา คอบช.จึงเสนอให้มีการทบทวนเรื่องดังกล่าว และ ขอให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ชี้แจงอย่างละเอียดว่า มีกระบวนการตรวจสอบสินค้าอาหารนำเข้าและอาหารตีกลับอย่างไร จะคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร