วันนี้ (13 มี.ค.2561) วันช้างไทย สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สรุปตัวเลขประชากรช้างป่าใน 16 กลุ่มป่า 69 พื้นที่อนุรักษ์ คาดว่ามีช้างป่าจำนวน 3,341 ตัว โดย 5 อันดับแรกที่มีประชากรช้างมากที่สุดคือ กลุ่มป่าตะวันตก ประมาณ 642-734 ตัว กลุ่มป่าแก่งกระจาน 487-500 ตัว กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 501 ตัว กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว 489 ตัว กลุ่มป่าตะวันออก 423 ตัว
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มป่าฮาลา-บาลา 100-140 ตัว กลุ่มป่าทุ่งแสลวงหลวง ภูเมี่ยง-ภูทอง 60-100 ตัว กลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก 100 ตัว กลุ่มป่าลุ่มน้ำปาย-สาละวิน 50 ตัว กลุ่มป่าแม่ปิง 50 ตัว กลุ่มป่าภูพาน 48 ตัว กลุ่มป่าศรีลานนา-ขุนตาล 36 ตัว กลุ่มป่าพนมดงรัก-ผาแต้ม 30 ตัว กลุ่มป่าดอยภูคา-แม่ยม และกลุ่มป่าชุมพร พื้นที่ละ 20 ตัว
ขณะที่ผลการนับช้างป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ภาคตะวันออก เป็นกลุ่มประชากรที่มีอัตราการเพิ่มสูงที่สุดในประเทศไทยเมื่อปี 2560 ประชากรช้างป่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 โดยเฉพาะในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เนื่องจากสภาพของพื้นที่ที่เหมาะสม เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของช้างป่า นอกจากนี้ช้างป่ายังปราศจากสัตว์ผู้ล่าในธรรมชาติ เช่น เสือโคร่ง รวมไปถึงการป้องกันและปราบปรามการล่าสัตว์ของเจ้าหน้าที่
ช้างไทยเพิ่ม-ขัดแย้งเชิงพื้นที่
นายนริศ ภูมิภาคพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในภาพรวมสถานการณ์ช้างป่าไทยน่าจะเป็นข่าวดีว่าช้างป่าไม่น่าจะสูญพันธุ์แล้วในตอนนี้ แต่ต้องจัดการให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ
ถ้าพูดถึงช้างในธรรมชาติ เป็นข่าวดีแล้วว่าถ้าเทียบกับสัตว์ป่าหายากชนิดอื่นๆ ช้างไม่เสี่ยงสูญพันธ์ุแล้ว ตอนนี้มีประชากรมากขึ้น มีภาพถ่ายจากหลายพื้นที่ แต่มีปัญหาที่ต้องจัดการเร่งด่วนคือความขัดแย้งคนกับช้างมากขึ้นและคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ใกล้กับพื้นที่หากินของช้าง ซึ่งยอมรับการตามแก้ปัญหายาก ต้องทำทั้งระบบทั้งในพื้นที่และระบบระหว่างพื้นที่ คนคุมนโยบายต้องสั่งการ ไม่อย่างนั้นจะทำลำบาก รัฐบาลมีนโยบายอย่างไรกับเรื่องนี้
นักวิชาการ บอกอีกว่า ในบางพื้นทีมีแนวโน้มประชากรช้างเพิ่ม จนออกมาหากินนอกพื้นที่ต้องสำรวจว่าพื้นที่ที่ช้างข้างในมีปัญหาอะไรหรือไม่ เช่น อาหาร แหล่งน้ำไม่เพียงพอ อาหารและพื้นที่เกษตรดึงดูดช่้างให้ออกมาหากิน ถิ่นที่อยู่อาศัยถูกรบกวน
มีหลายแนวคิด และการตั้งคำถามว่าถ้าเต็มแล้วจับย้ายได้มั้ย เช่นการย้ายช้างไปไว้พื้นที่อื่นๆ เรื่องนี้ต้องประเมินการรองรับเชิงพื้นที่ระยะยาว 30 ปี แต่ที่ดีที่สุดคือต้องป้องกันพื้นที่ไว้ให้ดีที่สุด แหล่งอาหารต้องเพียงพอกับประชากรที่เหมาะสม เพราะถ้าช้างเยอะก็จะทำลายแหล่งอาศัยได้ด้วย รวมถึงอาจมีการควบคุมประชากรโรคระบาด อาจจะส่งผลให้ตายทั้งประชากร
ด้านนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์ุพืช กล่าวว่า ถ้านับจาก 200 ปีประชากรช้างลดลง แต่ถ้าห้วงเวลา 10 ปีประชากรช้างเพิ่มขึ้น ขณะนี้การอนุรักษ์ช้าง การดูแลสุขภาพช้างมีผลต่อการเพิ่มประชากร เราคงไม่มองแต่เพิ่มหรือลด แต่มองคุณภาพชีวิตของช้าง เราอนุรักษ์พื้นที่และถิ่นอาศัยทำดี แต่คุณภาพชีวิตไม่ดี จะส่งผลกระทบต่อพันธุกรรมของช้าง
เช่น ป่ารอยต่อตะวันออก 5 จังหวัด เมื่อสำรวจประชากรช้างเทียบกับขนาดของพื้นที่ประชากรมี 424 ตัว ขณะที่ป่ารองรับได้ถึง 500 ตัว ช้างยังไม่ล้นป่า แต่เมื่อคาดการณ์ไปข้างหน้าถ้าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 ช้างจะล้นป่าแน่นอน เพราะในป่าไม่มีสัตว์ผู้ล่า
นับต่อจากนี้ไปการอนุรักษ์ช้าง เราจะให้ความสำคัญด้านสวัสดิภาพช้างและการแก้ปัญหาช้างให้แก้ที่ใจ ถ้าทุกคนเข้าใจและถ้าคนเข้าใจการคลายปมที่คาใจก็จะเป็นทางออกในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า
จันทร์จิรา พงษ์ราย ไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน