วันนี้ (25 เม.ย.2561) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) อยู่ระหว่างการจัดชุดปฎิบัติการพิเศษ ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณจัดซื้อผ้าห่ม ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ปีงบประมาณ 2559-2560 หลังพบศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดสิงห์บุรี จัดซื้อผ้าห่มจากร้านค้าวิสาหกิจชุมชน แจกผู้ยากไร้ในช่วงฤดูหนาว ราคาสูงกว่าท้องตลาดเป็นเท่าตัว
ทีมข่าวไทยพีบีเอสได้รับเอกสารการอนุมัติงบประมาณปี 2559 พบว่ามีการเบิก-จ่ายงบประมาณจัดซื้อผ้าห่มสูงถึง 240 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของงบประมาณเงินอุดหนุนผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่พึ่ง 500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นงบประมาณก้อนเดียวกันที่พบทุจริตศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั้ง 76 จังหวัด
ในเอกสารบางฉบับที่ทีมข่าวไทยพีบีเอสได้รับมา ปรากฎหลักฐานเงินซื้อผ้าห่มสูงสุด 4,000,000บาท ต่ำสุดเพียง 70,000 บาท โดยพบว่าศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ที่ได้รับงบประมาณสูงสุดคือ จังหวัดศรีสะเกษ 4,800,000 บาท รองลงมา จังหวัดอุบลราชธานี 3,600,000 บาท และจังหวัดอุดรธานี 2,800,000 บาท
ทั้งนี้ จังหวัดสิงห์บุรีเป็นจังหวัดแรก ที่พบมูลการทุจริตได้รับงบประมาณซื้อผ้าห่ม 480,000 บาท
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ยืนยันว่างบประมาณจัดซื้อผ้าห่มของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และหน่วยงานอื่นๆ เพิ่มสูงทุกปี ทำให้เกิดการแจกจ่ายเกิดความซ้ำซ้อน และยังพบว่าชาวบ้านบางพื้นที่ยังไม่เคยแกะผ้าห่มใช้สักครั้ง
“อาจจะมีช่องทางในแง่ที่ว่า เมื่อไม่ซื้อผ่านวิสาหกิจชุมชน แต่ทำหลักฐานว่าซื้อผ่านวิสาหกิจชุมชน ก็เป็นช่องทางที่ให้ไปอุดหนุนจากพ่อค้า ซึ่งก็มีส่วนต่าง กลายเป็นหัวคิว หรืออาจจะคล้ายๆเงินทอน ซื้อในปริมาณซ้ำซ้อน เพราะว่าหลายหน่วยที่มีการทำลักษณะนี้ ไม่เฉพาะแต่ พม.เท่านั้นนะ ที่มีการซื้อผ้าห่ม กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็มีการซื้อผ้าห่ม รวมทั้งท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดเมื่อถึงฤดูหนาวก็ซื้อผ้าห่มเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นจึงซื้อซ้ำซ้อน บางครั้งจึงไม่จำเป็นต้องแจก เพราะผ้าห่มมันมีการแจกหลายหน่วย” นายพิศิษฐ์ กล่าว
ขณะนี้ ป.ป.ท.กำลังตรวจสอบพบช่องโหว่การทุจริตจังหวัดสิงห์บุรี พบว่ามีร้านค้าเสนอราคามายังศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดสิงห์บุรี ทั้งหมด 3 ร้าน ร้านที่ 1 เสนอราคาผืนละ 400 บาท ร้านที่ 2 ผืนละ 450 บาท และร้านที่ 3 ผืนละ 480 บาท โดยร้านแรกที่เสนอราคาผืนละ 400 บาท เป็นผู้ชนะการประมูล แต่จากการตรวจสอบของ ป.ป.ท. กลับพบว่าผ้าห่มที่ขายในร้าน ราคาเพียง 199 บาทเท่านั้น
"ผ้าห่มแจก" แพงไม่มีคุณภาพ
ทีมข่าวไทยพีบีเอสสำรวจผ้าห่มของ นางสมบท มลิลาพันธุ์ (ยายหยวก) วัย 74 ปี ผู้ยากไร้ชาวตำบลบ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ที่ได้รับแจกมาจากศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดตั้งแต่ปลายปี 2560
ผ้าห่มมีความยาวขนาด 198 เซนติเมตร กว้าง 150 เซนติเมตร หากดูผิวเผินผ้าห่มผืนนี้ แทบไม่ได้ผลิตด้วยวัสดุพิเศษที่จะทำให้มีราคาสูงถึง 400 บาทได้ เพราะเป็นใยสังสงเคราะห์บางๆ เท่านั้น แม้แต่ผู้รับแจกยังประเมินราคาซื้อ-ขายในท้องตลาดทั่วไปไม่เกิน 200 บาท
“ตอนนี้ยายไม่ค่อยได้ซื้อผ้าห่มหรอก เพราะรัฐเขาแจกมาให้ ยายเคยซื้อผ้าห่มที่ร้านขายแพงสุดประมาณ 170 บาท” นางสมบท กล่าว
เมื่อขอดูผ้าห่มอีกผืนที่นางสมบท ได้รับแจกมาศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งเมื่อหลายปีที่ผ่านมา พบว่าไม่สามารถห่มแก้หนาวได้ เพราะเนื้อผ้าบางและมีขนาดสั้น จึงดัดแปลงตัดเย็บเป็นเสื้อแขนยาวใส่ในชีวิตประจำวัน
“ห่มแล้วมันไม่อุ่น ผืนมันเล็กห่มไม่ถึงเท้า แต่เสียดายผ้ามันยังดีและลายมันสวย เลยเอามาตัดเป็นเสื้อ ไว้ใส่ไปวัด ไปตลาด” นางสมบท กล่าว
ทีมข่าวไทยพีบีเอสสอบถาม น.ส.เพ็ชรินทร์ พรชัยประสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม องค์การบริหารส่วนตำบลป้านแป้ง ถึงความผิดปกติของราคาผ้าห่มที่นำไปแจกชาวบ้าน ได้รับคำชี้แจงว่าทุกปี อบต.จะเขียนคำร้องไปศูนย์คุ้มครองฯ ว่ามีผู้ยากไร้กี่คน ไม่เคยสอบถามราคากลางว่าจัดซื้อมาผืนละเท่าไหร่ เพราะไม่ใช่หน่วยงานจัดซื้อ เพียงแต่ทำหน้าที่ช่วยเหลือคนยากไร้ในพื้นที่เท่านั้น
“ถามว่าจริงๆ เราสมควรจะรู้ไหม ถ้าเราเป็นผู้จัดซื้อเราก็สมควรจะรู้ แต่ในเมื่อเราเป็นผู้ขอรับการช่วยเหลือ เราไม่ล้ำเส้น เรามั่นใจว่าเขาเป็นหน่วยงานที่ช่วยเหลือประชาชน ก็ไม่เคยคิดว่าเขาจะเป้นผู้แสวงหาผลประโยชน์จากการสงเคราะห์คนยากจน” น.ส.เพ็ชรินทร์ กล่าว
จังหวัดสิงห์บุรี เป็นจังหวัดเป้าหมาย ที่ ป.ป.ท. ลงพื้นที่รวบรวมพยานหลักฐาน จากร้านค้าวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการประมูล หลังพบมูลทุจริตศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ซื้อผ้าห่มราคาสูงกว่าท้องตลาดจาก 199 บาท เป็น 400 บาท รวมทั้งต้องจับตาว่าการทุจริตครั้งนี้จะเชื่อมโยงไปถึงผู้บริหารระดับสูง พม.อีกหรือไม่
อ่านข่าวเพิ่มเติม
เรื่องเงียบมา 5 ปี อดีตผู้ว่า สตง. จี้ตรวจสอบทุจริตซื้อผ้าห่มคนจน