ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เพลง K-POP “สันติภาพ-อาวุธ” ของเกาหลีใต้

ศิลปะ-บันเทิง
27 เม.ย. 61
20:03
1,819
Logo Thai PBS
เพลง K-POP “สันติภาพ-อาวุธ” ของเกาหลีใต้
เกาหลีใต้ส่งอุตสาหกรรมเพลง K-Pop แทรกซึมสู่สังคมเกาหลีเหนือเพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในคาบสมุทรเกาหลีและยังใช้เพลง K-POP เป็นอาวุธในการตอบโต้เกาหลีเหนือในช่วงที่ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 เกาหลียังคงตึงเครียด

วันนี้ (27 เม.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาเกาหลีใต้ได้ส่งศิลปินชื่อดังเดินทางไปแสดงในกรุงเปียงยางเพื่อเชื่อมสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือจนทำให้เกิดเป็นกระแสที่ทั่วโลกจับตามอง แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกาหลีใต้เริ่มสร้างสันติภาพผ่านเพลง K-POP

มีรายงานว่า ตั้งแต่ ค.ศ. 1999 เกาหลีใต้ส่งนักร้องหญิงวง Fin.K.L เป็นตัวแทนเชื่อมสายสัมพันธ์เกาหลีเหนือ-ใต้ ด้วยเพลง To My Prince ซึ่งถือเป็นไอดอลกลุ่มแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้ขึ้นแสดงบนเวทีของเกาหลีเหนือ โดยในปีเดียวกันบอยแบนด์วง Sechskies ได้รับโอกาสแสดงเพลง Hunch พร้อมท่าเต้นที่เรียบร้อย เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของชาวเกาหลีเหนือ แต่ผู้ชมชาวเกาหลีเหนือกลับไม่มีปฏิกิริยาร่วมในการแสดง


ต่อมาในปี 2003 เกาหลีเหนือต้อนรับศิลปินจากเกาหลีใต้อีกครั้ง ในคอนเสิร์ตเชื่อมสัมพันธไมตรี ที่เปียงยางโดยวง BABY V.O.X เกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังของเกาหลีขึ้นแสดงในเพลง By Chance ขณะที่วง SHINHWA บอยแบนด์ที่ดังที่สุดของเกาหลีใต้ในยุคนั้นก็ได้ขึ้นแสดงบนเวทีเดียวกันในเพลง Perfect Man แต่ผู้ชมชาวเกาหลีเหนือกลับไม่มีปฏิกิริยาร่วมในการแสดงเช่นเดียวกับในปี 1999


แม้หลังจากปี 2003 เกาหลีใต้งดส่งวัฒนธรรม K-POP ไปเยือนเวทีเกาหลีเหนือ เนื่องจากความไม่ลงตัวเรื่องงบประมาณการจัดงาน แต่กระทรวงรวมชาติ และหน่วยงานท้องถิ่นจะมีการจัด "คอนเสิร์ตเพื่อสันติภาพ" หรือ "คอนเสิร์ตเขตปลอดอาวุธ" โดยรวมศิลปิน K–POP ชื่อดังขึ้นแสดงเพื่อสร้างความปรองดองระหว่าง 2 ชาติผ่านกิจกรรมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ในทุกปีบริเวณสวนสันติภาพนูรี ในเมืองพาจู ทางเหนือของกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ตั้งแต่ปี 2011

 

ดนตรีเชื่อมสัมพันธไมตรีโอลิมปิกฤดูหนาว

จนกระทั่งปี 2018 เกาหลีเหนือส่งสัญญาณหวังเชื่อมสัมพันธไมตรีกับเกาหลีใต้อีกครั้ง ด้วยการส่งนักกีฬาเกาหลีเหนือเข้าร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ณ เมืองพยองชาง นำโดย ‘คิม โยจอง’ น้องสาวของคิม จองอึน ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่สมาชิกของตระกูลคิมเยือนเกาหลีใต้อย่างเป็นทางการครั้งแรก พร้อมส่งคณะนักแสดงดนตรีและศิลปะหญิงล้วนกว่า 140 ชีวิตเข้าร่วมแสดงในงานโอลิมปิก ในวันที่ 6 ก.พ.ด้วย


จากความสัมพันธ์ที่เริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ในวันที่ 31 มี.ค.เกาหลีใต้ส่งศิลปินเดินทางไปแสดงในกรุงเปียงยางเพื่อเชื่อมสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยมีโจ ยองพิล นักร้องเพลงป็อบที่อยู่ในวงการเพลงเกาหลีตั้งแต่ยุค 80, วง Red Velvet เกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังจากค่าย SM Entertainment และซอฮยอน อดีตสมาชิกวง Girl's Generation ที่ได้ขึ้นร้องเพลงร่วมกับนักร้องจากเกาหลีเหนือมาแล้วในช่วงการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว 2018


โดยรายการ New Late Night E News ของเกาหลีใต้ ระบุว่า เทียบกับปี 1999 และปี 2000 คนเกาหลีเหนือสนุกกับวัฒนธรรมของคนเกาหลีใต้และกลุ่มไอดอลของเกาหลีใต้มากกว่าเดิมมาก โดยคนหนุ่มสาวในเกาหลีเหนือสงสัยและสนใจในการแต่งกายและการเต้นของกลุ่มไอดอลเกาหลีใต้ เด็ก ๆ จากมหาวิทยาลัยในเปียงยางคงจะขอให้พ่อแม่ซื้อตั๋วคอนเสิร์ตให้อย่างแน่นอน โดยมีการสังเกตปฏิกิริยาของนักกีฬาชาวเกาหลีเหนือที่เดินทางมาแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่พยองชัง ได้ฮัมเพลงของวง Red Velvet หลังการแข่งขันกีฬาด้วย

 

เพลง K-POP อาวุธตอบโต้เกาหลีเหนือ

นอกจากเกาหลีใต้จะพยายามใช้เพลง K-POP สร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในคาบสมุทรเกาหลีแล้วเพลง K-POP ยังถูกนำมาใช้เป็นอาวุธในการโฆษณาชวนเชื่อในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ของ 2 เกาหลีเข้าขั้นวิกฤต โดยกระทรวงกลาโหมของเกาหลีใต้ได้ใช้ลำโพงกระจายเสียงโฆษณาชวนเชื่อทั้งเปิดเพลง K-POP รวมถึงเสียงประกาศเนื้อหาละครและชีวิตเกาหลีใต้ด้านต่างๆ ที่เป็นเรื่องต้องห้ามในเกาหลีเหนือนับตั้งแต่เกิดสงครามในคาบสมุทรเกาหลี โดยใน ปี 2004 การกระจายเสียงยุติลงชั่วคราว ระหว่างมีการตั้งโต๊ะเจรจาของสองประเทศ 


ต่อมาใน ปี 2010 ทหารเกาหลีใต้เปิดเพลง Hit your heart ของวง 4minute ตอบโต้ที่เกาหลีเหนือยิงตอร์ปิโดจมเรือของเกาหลีใต้ โดยในวันที่ 25 สิงหาคม 2015 กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้หันลำโพงกลับไปที่เกาหลีเหนืออีกครั้ง และได้เปิดเพลง K-POP อย่างเพลง Bang Bang Bang ของวง Bigbang เพลง Genie จากวง Girl’s Generation และเพลง Heart ของ IU ผ่านลำโพง 48 ตัว ติดตั้งวางอยู่ 11 ตำแหน่งบริเวณชายแดนระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ โดยแต่ละจุดจะมีการเปิดนาน 3-4 ชั่วโมงต่อครั้ง ได้ยินไกลกว่า 20 กิโลเมตร


เพื่อกดดันให้เกาหลีเหนือออกมาขอโทษ หลังทหารเกาหลีใต้ 2 นาย เหยียบกับดักระเบิดในเขตปลอดทหารของเกาหลีเหนือจนได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ในภายหลัง เว็บไซต์ Washington Post ได้รายงานว่า ทั้งสองฝ่ายทำการตกลงกันได้เรียบร้อยแล้ว หลังเกาหลีเหนือยอมขอโทษในเหตุลอบโจมตีเขตพื้นที่ดังกล่าว


ขณะที่ปี 2016 เกาหลีใต้เริ่มต้นการกระจายเสียงโฆษณาชวนเชื่อรอบใหม่ เพื่อตอบสนองต่อการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ไฮโดรเจน หรือ H-Bomb ของเกาหลีเหนือ ขณะที่เกาหลีเหนือก็ใช้วิธีเดียวกันนี้ส่งสารวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเกาหลีใต้ตอบโต้เกาหลีใต้มาเป็นเวลานานเช่นกัน 

 
โดยในวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ระบุในแถลงการณ์ว่า เกาหลีใต้ยุติการโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านเกาหลีเหนือผ่านลำโพงกระจายเสียงที่โจมตีเกาหลีเหนือ เพื่อลดความตึงเครียดทางทหารระหว่างสองเกาหลี และสร้างบรรยากาศของการพูดคุยสันติภาพ ถือเป็นการปูพื้นสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ ก่อนที่นายคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือจะร่วมประชุมสุดยอดกับนายมุน แจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่หมู่บ้านพันมุนจอมในเขตปลอดทหารวันนี้

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง