น.ส.อมรรัตน์ ทรัพย์พลอย ยึดอาชีพพนักงานร้านอาหารญี่ปุ่น ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งมากว่า 7 ปีแล้ว เธอเริ่มจากการเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา ได้แค่ตอบแทนเป็นรายวัน แต่ปัจจุบันเป็นพนักงานประจำแล้ว ได้เงินเดือนหมื่นกว่าบาท ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน วันละ 8 ชั่วโมง
แม้จะมีรายได้มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำและพอมีเงินเหลือเก็บบ้างเดือนละ 500-1,000 บาท หลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ และส่งให้ครอบครัวที่ต่างจังหวัด แต่เธอก็ยังต้องการสวัสดิการหรือหลักประกันในในชีวิตจากรัฐ เพราะแม้จะเป็นผู้ประกันตนแต่สิทธิการรักษาพยาบาลยังไม่ครอบคลุมมากนัก
สอดคล้องกับความเห็นของ ชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ที่เรียกร้องให้รัฐจัดให้มีสวัสดิการถ้วนหน้า มีระบบประกันสุขภาพที่เข้าถึงคนทุกกลุ่มโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ที่สำคัญต้องกำหนดค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศ 360 บาท เพื่อลดปัญหาแรงงานกระจุกตัวในเมืองใหญ่
รศ.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ นักวิชาการด้านแรงงาน ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ข้อเรียกร้องของแรงงานในทุกปีที่ยังคงหลักการเดิม เพราะยังไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล แต่หากมองความเป็นไปได้แล้ว การปรับค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ 360 บาทเป็นไปได้ยาก เพราะจะเกิดผลเสียเรื่องการกระจายสินค้า กระทบกับต้นทุนของธุรกิจเอสเอ็มอี ที่สำคัญความสามารถในการจ้างงานของจังหวัดขนาดเล็กย่อมมีไม่มากนัก
ส่วนข้อเรียกร้องว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกันของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98 มองว่าเป็นไปได้ยากเพราะรัฐหวั่นเกรงว่าจะกระทบกับความมั่นคง หากเกิดการชุมนุมต่อรอง อีกทั้งปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติกว่าล้านคน ข้อเรียกร้องนี้จึงไม่ได้รับการตอบรับในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา