วันนี้ (1 มิ.ย.2561) พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นำเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมศุลากร เข้าตรวจค้นโรงงานในนิคมลาดกระบัง จ.สมุทรปราการ และตรวจค้นบริษัทนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
โดยการเข้าตรวจค้นโรงงานทั้ง 2 แห่งเป็นการขยายผลการตรวจค้นตู้สินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชล บุรี และพบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ประเภทตู้เกมและสินค้าอื่นๆจากประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งตรวจโรงงานคัดแยกขยะใน จ.ฉะเชิงเทรา ของเจ้าหน้าที่พบว่ากระทำความผิดหลายอย่าง ทั้งสำแดงสินค้าผิดประเภท และพบพิรุธในการเลี่ยงภาษี ซึ่งขณะนี้กำลังตรวจสอบว่า มีเจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจหรือไม่

ภาพ:สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ภาพ:สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
สำหรับการตรวจโรงงานแห่งแรก ตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ 4 ตู้ ของบริษัท ลองลัค พลาสติก แอนด์ เมทัล จำกัด โดยภายในบรรจุขยะถุงพลาสติกอัดแท่งจำนวนมาก รวมน้ำหนักกว่า 58 ตันโดยตัวแทนกรมศุลากร และกรมโรงงานอุตสาหกรรมเข้าตรวจสอบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรแจ้งว่า หลังจากมีการตรวจเข้มขยะอิเล็ทรอนิกส์ และมีประสานงานกับสำนักงานศุลการกรลาดกระบัง จนพบข้อสังเกตว่าไม่มีแจ้งหลักฐานจึงคาดว่าสินค้าอาจจะไม่เป็นไปตามที่สำแดงไว้ เมื่อนำไปเอ็กซเรย์ตรวจและนำมาเปิดจึงพบว่าไม่ใช่การนำเข้าพลาสติกตามที่แจ้งขออนุญาต แต่เป็นขยะถุงพลาสติก
พล.ต.อ.วิระชัย กล่าวว่า จากการตรวจสอบ พบว่าเป็นการนำเข้าขยะถุงพลาสติกเข้ามาโดยไม่ขออนุญาต และสำแดงเท็จ มีความผิดตามพร.บ.ศุลกากร 2560 มาตรา 202 มีโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และแจ้งอีกข้อหาความผิดตามพ.ร.บ.ส่งออกและการนำเข้ามาในราชอณาจักรซึ่งสินค้าพ.ศ. 2522 ฐานนำเข้าสินค้าที่ต้องได้รับอนุญาตตามมาตรา 5 (2) คือสินค้าพลาสติก ฝ่าฝืน ม.7 วรรค(1)ไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 5 เท่าของสิ้นค้า และต้องส่งสินค้ากลับไปยังประเทศปลายทางที่นำเข้ามาทั้ง 35 ประเทศ เพราะไม่ได้รับอนุญาตนำเข้าขยะพลาสติกเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าโรงงานแห่งนี้ และขออนุญาตนำเข้าสแครปพลาสติก 20,000 ตันในช่วงปี 2561-15 พ.ค.2562

ภาพ:สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ภาพ:สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ส่งเจ้าหน้าที่หาสารปนเปื้อนรอบโรงงานขยะ
นายบรรจง สุกรีฑา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ได้เสนอให้พักใบอนุญาตโรงงานที่ลักลอบนำเข้าเผาหลอมทำลายขยะอิเล็กทรอนิกส์ผิดกฎหมายไปแล้ว 4 โรงงานส่วนอีก 2 โรงงานทำถูกกฎหมาย และเหลืออีก 1 โรงงานอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่
ส่วนแนวทางการแก้ปัญหา จะหารือกับกรมศุลกากรเรื่องเอกสารการแจ้งรายการนำเข้าว่าชิ้นส่วนประเภทใด เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายตามกฎหมาย ซึ่งกรมโรงงานจะส่งข้อมูลบริษัทนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้กรมศุลกากร เฝ้าระวังและคัดกรองการลักลอบนำเข้าป้องกันการสำแดงนำเข้าอันเป็นเท็จ

ภาพ:สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ภาพ:สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ส่วนนายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ เลขานุการกรมศุลกากร กล่าวว่า ในแต่ละวันมีตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาจำนวนมาก เกินกำลังเจ้าหน้าที่ จึงทำให้การตรวจสอบทุกตู้ทำได้ยาก และอาจส่งผลให้เกิดการล่าช้าในการขนส่งได้ โดยจากนี้หากศุลกากรตรวจสอบพบการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จะส่งดำเนินคดีทุกบริษัท โดยไม่ใช้การเปรียบเทียบปรับอย่างเดิม
นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบหาสารปนเปื้อน เก็บตัวอย่างมาตรวจสอบโดยเฉพาะแหล่งน้ำ ที่อยู่รอบๆ โรงงานขยะดังกล่าว ตลอดจนจุดเสี่ยงที่เป็นเป้าหมาย ว่าต้นตอเกิดจากโรงงานมีการปล่อยสารพิษ สารอันตรายลงสู่แหล่งน้ำหรือไม่ หากพบว่ามีการปนเปื้อน อันส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ จะประเมินมูลค่าความเสียหายและพิจารณาเอาผิดกับโรงงานดังกล่าว